วันเสาร์ที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

คุณค่าหลักและทักษะความเป็นผู้นำ

Peter Ferdinand Drucker หรือ Peter F. Drucker (1909–2005) เป็นนักคิดนักเขียนที่ทรงอิทธิพล เป็นที่ปรึกษาด้านการบริหารจัดการ ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางให้เป็นปรมาจารย์แห่งการบริหารจัดการธุรกิจสมัยใหม่ แต่ตัวเขาเองกลับกล่าวอย่างถ่อมตนว่า เขาเป็นเพียงผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนิเวศวิทยาทางสังคม... ว๊าว!

ปีเตอร์ เอฟ ดรักเกอร์ กล่าวว่า “ผู้นำที่มีประสิทธิภาพสูง โดยส่วนตัวแล้ว ไม่เคยพูดว่า ผม และนั่นก็ไม่ใช่ว่าพวกเขาได้รับการอบรมเพื่อที่จะไม่พูดคำว่า ผม พวกเขาไม่ได้คิด ผม พวกเขาคิด เรา พวกเขาคิดถึง ทีม พวกเขาเข้าใจเนื้องานว่าจะทำให้ทีมขับเคลื่อนได้อย่างไร พวกเขายอมรับในหน้าที่ และไม่ได้ปฏิเสธความรับผิดชอบ คำว่า เราได้รับความเชื่อถือ มันสร้างความไว้วางใจ มันเป็นพลังที่จะผลักดันให้งานนั้น ๆ ประสบความสำเร็จ”

ผู้บริหารประเทศระดับสูงสุด จนถึงผู้จัดการหน่วยงานย่อย ๆ ในท้องถิ่น ประธานกรรมการบริษัท จนถึงผู้จัดการส่วนงานย่อย ๆ ในองค์กร ทั้งที่เป็นองค์กรของรัฐ หรือภาคเอกชน ทั้งที่เป็นนิติบุคคลทำกำไร หรือมูลนิธิช่วยเหลือสังคม ทุกภาคส่วนในชุมชน รวมไปถึงครอบครัว ล้วนมี “ผู้นำ

ผู้นำ (Leader) คือบุคคลที่มีความสามารถในการโน้มน้าว มีอำนาจในการชักจูง มีอิทธิพลในการชี้แนะ สั่งการให้บุคคลอื่น (Follower – ผู้ตาม) ทำตามจนกระทั่งกิจกรรมนั้น ๆ บรรลุเป้าประสงค์ ผู้นำบางคนมี “ภาวะผู้นำ” สูง ในขณะที่ผู้นำหลายคนมีภาวะผู้นำต่ำเตี้ย

ภาวะผู้นำ (Leadership) เป็นกระบวนการใช้อิทธิพลต่อสังคม ใช้ศิลปะในการสร้างแรงจูงใจ โดยบุคคล หรือกลุ่มบุคคล ใช้ความสามารถในการโน้มน้าวชักจูง ให้คำแนะนำ ใช้อำนาจเพื่อเกณฑ์ความช่วยเหลือ และสนับสนุนบุคคล หรือกลุ่มบุคคลอื่นได้ทำภารกิจนั้น ๆ ให้สัมฤทธิผล

ยังมีเรื่องราวที่เกี่ยวกับ “ผู้นำ ภาวะผู้นำ” อีกมากมาย เช่น สไตล์ของผู้นำ บุคลิกลักษณะของผู้นำ ทักษะของผู้นำ วิสัยทัศน์ของผู้นำ การนำทีมงาน การนำความเปลี่ยนแปลง การนำองค์กร ผู้นำกับผู้ตาม บ้างก็สนุกน่าเขียน (น่าอ่าน) บ้างก็น่าเบื่อ (เหมือนบทเรียนทั่วไป) แต่ด้วยเจตนาของ Backup Blogs นี้ ต้องการให้คำแนะนำแบบ “ชงดื่มได้ทันที” ซึ่งถือเป็น “ทางลัด” เพื่อการบริหารจัดการ

เราสรุป “คุณค่าหลักและทักษะความเป็นผู้นำ” ได้ 12 ประเด็นสำคัญ และแนะนำให้ผู้นำทุกระดับในทุกองค์กรควรทำความเข้าใจ จดจำ และนำไปประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนาศักยภาพของตนเองต่อไป
1)    ขับเคลื่อนด้วยผลงาน และประสิทธิภาพการดำเนินงาน (Results and Performance Driven) – คือไม่ต้องชเลียร์ (เชียร์+เลีย) ใคร และไม่ชอบให้ใครมาชเลียร์ ทุกอย่างวัดกันด้วยผลงาน ต้องชี้นำ สั่งการ สร้างขวัญ พลังแรงจูงใจให้กับทีมงาน เพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายต่าง ๆ ในภาพรวม นำยุทธศาสตร์ไปลงมือปฏิบัติ และปรับปรุงตามความจำเป็
2)    ยึดถือลูกค้าเป็นสำคัญ ทั้งลูกค้าภายในและลูกค้าภายนอก (Customer Centric – internal as well as external) – ให้บริการทั้งกับลูกค้าเดิมและลูกค้าใหม่อย่างเป็นเลิศ ในแบบของมืออาชีพ สร้างฐานลูกค้าใหม่เพื่อเพิ่มยอดขาย จัดการกับปัญหาต่าง ๆ ให้กับลูกค้าอย่างละเอียดรอบคอบ และรายงานผู้บังคับบัญชาให้ได้รับทราบ
3)    เป็นผู้นำคุณภาพ ที่มีภาวะผู้นำสูง เช่น ริเริ่มสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ มีความซื่อสัตย์-ตรงไปตรงมา กระตือรือร้น มีใจจดจ่อ ปลูกฝังความเชื่อมั่นศรัทธา ชอบเป้าหมายที่ท้าทาย ดูแล-แบ่งปัน สนใจพัฒนาบุคลากร (Leadership Qualities) – ช่วยผู้บริหาร/ผู้จัดการ โดยทำหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายให้เสร็จสิ้นสมบูรณ์ ช่วยตอบคำถามต่าง ๆ ของผู้ใต้บังคับบัญชา ให้ความสนใจ เน้นการสร้างผู้นำคุณภาพที่มีภาวะผู้นำสูง กำหนด ผู้รับช่วงต่อ (Successor)” ลงในแผนบริหารงานบุคคลของบริษัทฯ
4)    ชี้นำ ทำงานไปในทิศทางเดียวกันกับองค์กร เช่น ยอมรับความคิดริเริ่มใหม่ ๆ ขององค์กร ยอมรับการเปลี่ยนแปลง (Organizational Alignment) – ให้แน่ใจว่าพนักงานทุกคนปฏิบัติตามนโยบาย ขั้นตอนต่าง ๆ ของบริษัทฯ เช่น การแต่งกาย การใช้โทรศัพท์มือถือ และอื่น ๆ
5)    สื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น ภาษาเขียน ภาษาพูด ทักษะการนำเสนอ และการสนับสนุน อำนวยความสะดวก (Effective Communication) – ให้ข้อเสนอแนะในทางสร้างสรรค์ สื่อสารทุกประเด็นความสัมพันธ์ของพนักงาน ข้อกังวล และอุบัติการณ์ต่าง ๆ ให้ผู้บังคับบัญชาได้รับทราบอย่างสม่ำเสมอ
6)    หาหนทางในการแก้ปัญหา (Problem Solving) – วิเคราะห์รายงานทางธุรกิจต่าง ๆ ข้อมูลการขายภายในบริษัทฯ จัดเตรียมเอกสารที่จำเป็นเพื่อประกอบการตัดสินใจ วิเคราะห์ราคา และกลยุทธ์ในการขายของคู่แข่งขัน
7)    สร้างทีมงาน (Building Teamwork) – บริหารจัดการ และเสริมสร้างทีมงานเพื่อให้สามารถดำเนินการตามแผนที่วางไว้ ดูแล กระตุ้นเตือน ฝึกอบรมพนักงาน กระจายอำนาจ ให้คำชี้แนะฝึกสอนอย่างเข้มข้น ต่อเนื่อง และสร้างโอกาสในการอบรมพัฒนาอย่างจริงจัง
8)    มั่นใจในตนเอง (Self-confidence) – ฉกฉวยโอกาสต่อความรับผิดชอบใหม่ ๆ ไม่ใช่บอกปัด ไม่ยอมรับโครงการอื่น ๆ ทำให้เสียโอกาสในการเรียนรู้ กล้าเผชิญหน้า และจัดการกับประเด็นปัญหาต่าง ๆ ด้วยความเชื่อมั่น ยินดีรับความเสี่ยง
9)    บุคลิกลักษณะ การวางตัว ดูเป็นมืออาชีพ (Professional Demeanor and Appearance) ให้คิดถึงตอนที่ไปสัมภาษณ์งานครั้งแรกในชีวิตซิ แล้วท่านจะเห็นด้วย... เพราะฉะนั้น ผู้นำต้องพัฒนาบุคลิกภาพทั้งภายใน และภายนอก รวมไปถึงการทำให้ร่างกายแข็งแรง มีพลานามัยสมบูรณ์ สร้างความพร้อมให้สุขภาพใจ คิดดี คิดได้ด้วยปัญญา อารมณ์ดี และมีแรงบันดาลใจ
10)  เปิดรับความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ (Openness to Feedback and Suggestions) ผู้คนส่วนใหญ่ไม่ชอบเสียงวิพากษ์วิจารณ์ เฉกเช่นเดียวกันกับผู้ใต้บังคับบัญชาของท่าน เพราะฉะนั้นท่านเองก็ควรฝึกฝนที่จะแสดงความคิดเห็นอย่างสร้างสรรค์ (Constructive/Positive Feedback) เป็นแบบอย่าง (Role Models) ที่ดีต่อผู้ใต้บังคับบัญชา หรือหากพวกเขาต้องการแสดงความคิดเห็น ก็ควรที่จะทำใจเปิดกว้างรับฟังข้อเสนอแนะเหล่านั้นอย่างมีใจจดจ่อ
11)  บริหารเวลาเป็น (Time management) – Lido Anthony Iacocca หรือ Lee A. Iacocca (1924-ปัจจุบัน) – ลี ไออาค๊อคค่า นักธุรกิจ อดีตประธานกรรมการบริหารบริษัท Chrysler และบริษัท Ford กล่าวว่า “หากคุณต้องการใช้เวลาของคุณให้เกิดประโยชน์สูงสุด คุณต้องรู้ว่าอะไรคือสิ่งสำคัญที่สุด และเมื่อนั้นแหละ ทุ่มสุดตัวไปเลย
12)  ความน่าเชื่อถือและความถูกต้อง (Reliability and Validity) ความเที่ยงตรง ถูกต้อง รวดเร็ว ทันต่อเหตุการณ์ โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับข้อมูลเพื่อการตัดสินใจ หากผิดพลาดไป ก็อาจนำมาซึ่งความเสียหายใหญ่หลวงได้
ชิ้นงานแต่ละชิ้นงานที่เกิดขึ้นในแต่ละองค์กร มีความสลับซับซ้อนมากขึ้นทุกวัน อาจต้องได้รับความร่วมมือจากหลาย ๆ แผนก อาจต้องทำงานกันหลาย ๆ คน อาจต้องส่งต่อชิ้นงานนั้น ๆ ไปยังหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง หากการทำงานร่วมกันเป็นทีมไม่เป็นผล ก็อย่าได้หมายว่าจะได้ส่งมอบชิ้นงานที่ดีกว่าคู่แข่งขันรายอื่น ๆ ในตลาดได้

การทำงานเป็นทีม ภายใต้ผู้นำที่มีภาวะผู้นำสูง จึงเป็นงานที่ท้าทายเสมอ...

หากบุคลากรในองค์กรนั้น ๆ ได้รับการพัฒนาศักยภาพอย่างที่สุด มีผู้นำที่เปี่ยมไปด้วยคุณค่าหลักและทักษะต่าง ๆ จำนวนมาก และครอบคลุมทุกระดับชั้นบังคับบัญชา ย่อมเป็นการสร้างโอกาสให้องค์กรนั้น ๆ ส่งมอบ “ความสำเร็จ” ได้โดยไม่ยากนัก

แล้วท่านล่ะ... พร้อมที่จะเป็น A Real Team Player แล้วหรือยัง...

สรรพัชญ์ เลี้ยววาริณ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น