วันเสาร์ที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554

องค์ประกอบที่สำคัญของการเจรจาต่อรอง

การเจรจาต่อรองเป็นสิ่งที่เคียงคู่อยู่กับชีวิตประจำวันของเราตั้งแต่เกิดจนตาย เมื่อครั้งยังเป็นเด็ก พวกเราโวยวายร้องขอของเล่นหลายชิ้นจากพ่อแม่ ผู้ปกครองหลายรายต้องเจรจาต่อรองค่าแป๊ะเจี๊ยะเพื่อให้ท่านได้เรียนในโรงเรียนที่มีชื่อเสียง พ่อแม่ของเจ้าสาวบางคนเรียกร้องสินสอดทองหมั้นราคาแพง คู่สมรสที่หวานชื่นก็จะต่อรองและตกลงกันว่าจะมีลูกกันกี่คน สามีหรือภรรยาที่ไม่สามารถอยู่ร่วมกันได้อีกต่อไป อาจเรียกร้องค่าเลี้ยงดู หรือต่อรองว่าใครจะเป็นผู้ดูแลลูก คนรวยหลายคนที่นอนตายอย่างไม่เป็นสุข เพราะลูกหลานฟ้องร้องกันเพื่อเรียกร้องให้แบ่งปันมรดกอย่างเป็นธรรม เหล่านี้เป็นต้น

การเจรจาต่อรองเกิดขึ้นในทุกภาคส่วนของสังคม ทั้งหน่วยงานของรัฐหรือภาคเอกชน เป็นนิติบุคคลที่ทำกำไร และมูลนิธิที่ไม่แสวงหากำไร ขั้นตอนกระบวนการทางกฎหมาย ทั้งที่เป็นการเจรจาภายในประเทศ และการต่อรองระหว่างประเทศ เช่น เจรจาต่อรองเพื่อซื้อหรือควบรวบกิจการในแวดวงธุรกิจ เจรจาต่อรองเงื่อนไขทางการค้า (Trading Terms Negotiation) กับคู่ค้า เจรจาต่อรองกับสหภาพแรงงาน เจรจาสันติภาพ ต่อรองตัวประกัน เจรจาการค้าตามกรอบข้อตกลงการค้าเสรี ฯลฯ

นั่นหมายความว่า บุคคล หรือกลุ่มบุคคลทั้งหลายล้วนแล้วแต่มีความสามารถในการเจรจาต่อรอง เพียงแต่ดีกรีของการนำมาใช้อาจแตกต่างกันตามโอกาส ตามบุคลิกลักษณะ หรือตามระดับความเขี้ยวส่วนบุคคล แต่หากเป็นการเจรจาต่อรองทางธุรกิจ หรือการเจรจาที่มีส่วนได้ส่วนเสียมหาศาล อาจจำเป็นต้องใช้นักเจรจาต่อรองมืออาชีพ หรือเป็นผู้มากด้วยประสบการณ์ในวงการนั้น ๆ แม้กระทั่งการเจรจาต่อรองเป็นทีม

นักการเมืองส่วนหนึ่งของไทย ก็จะทำตัวเหมือนนกยูงรำแพนหาง เรียกร้องค่าตัวเพื่อไปสังกัดพรรคการเมืองอื่นก่อนการเลือกตั้ง หลังการเลือกตั้ง ก็มีการเจรจาต่อรอง จัดสรรผลประโยชน์ให้ลงตัวเพื่อจัดตั้งรัฐบาลให้สำเร็จ ในการบริหารรัฐกิจ ก็ยังมีการเจรจาต่อรองเปอร์เซ็นต์พิเศษใต้โต๊ะ เพื่อที่จะให้ผู้มีอำนาจอนุมัติ หรือไม่อนุมัติโครงการ

Richard Milhous Nixon หรือ Richard M. Nixon (19131994) ริชาร์ด นิกสัน ประธานาธิบดีคนที่ 37 ของสหรัฐอเมริกา ได้กล่าวว่า “ขอเรียกร้องให้พวกเราก้าวออกไปจากศักราชแห่งการเผชิญหน้า ไปสู่ยุคของการเจรจาต่อรอง” เพื่อผ่อนคลายความตึงเครียดในช่วงสงครามเย็น

การเจรจาต่อรองเป็นกระบวนการของการสนทนาระหว่างบุคคล หรือกลุ่มบุคคลที่มีส่วนได้เสีย หรือมีข้อขัดแย้งกัน อาจมีมากกว่า 2 ฝ่าย เป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูลผ่านการสื่อสาร โดยมั่นหมายตั้งใจที่จะสร้างความเข้าใจ เจรจาประสานประโยชน์ ต่อรองปรับแก้ประเด็นที่แตกต่าง ค้นหาทางออกที่ยอมรับได้ด้วยการประนีประนอม นำไปสู่ข้อตกลงที่มีผลผูกพัน และเป็นที่พอใจของทุกฝ่าย

หัวข้อที่น่าสนใจเกี่ยวกับ “การเจรจาต่อรอง” มีมากมาย ไม่ว่าจะเป็นหมวดความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการเจรจาต่อรอง การเตรียมตัวและการวางแผน การลงมือปฏิบัติการต่อรอง การวิเคราะห์ ประเมินผลหลังการเจรจาต่อรอง บรรยากาศพื้นฐานในการเจรจาต่อรอง ตราบาปที่สำคัญของการเจรจาต่อรอง ฯลฯ ซึ่งท่านสามารถติดตามอ่านได้ที่ Backup Blogs ในโอกาสต่อ ๆ ไป

นักเจรจาต่อรองมืออาชีพ หัวหน้าคณะ หรือผู้ที่เป็นตัวแทนการเจรจาต่อรองควรเรียนรู้ “เทคนิค” การเจรจาต่อรอง กระบวนการขั้นตอนการเจรจาต่อรอง ควรได้รับการฝึก “ทักษะ” ทั้งที่เป็นการอบรมสัมมนา และ On-the-job-training ให้มีชั่วโมงบินสูงจนเข้าใจ “กลยุทธ์” ของฝ่ายตรงข้ามแบบ “เห็นแจ้งแทงตลอด” ผู้เชี่ยวชาญในการเจรจาต่อรองจำเป็นต้องใช้ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ เพื่อวางแผน “ยุทธศาสตร์” ในการเจรจาต่อรอง

ก่อนที่จะไปพูดคุยในประเด็นที่ยาก ๆ กระผมอยากจะให้ภาพ “องค์ประกอบที่สำคัญของการเจรจาต่อรอง (Key Elements of Negotiation)” เพื่อชี้ให้เห็นว่าการเจรจาต่อรองเป็นเรื่องที่กว้าง และเกี่ยวพันกับหลายเรื่องในเชิงลึก
  • การรับรู้ (Perception) ส่วนบุคคล เป็นความสามารถในการตีความ เข้าใจรับรู้จากการมองเห็น จากการได้ยิน จากสัมผัสอื่น ๆ ซึ่งได้รับการหล่อหลอมมาก่อนการเจรจา การตีความอาจเป็นไปได้ทั้งทางบวก หรือทางลบ
  • อำนาจ (Power) ในการเจรจาต่อรอง เป็นความสามารถในการสร้างอิทธิพลต่อผู้อื่น เป็นพลังสร้าง “ดุลยภาพ” หรือความเท่าเทียมระหว่างคู่เจรจา
  • อิทธิพล (Influence) เป็นการปรับความเข้าใจรับรู้ของฝ่ายตรงข้าม เพื่อที่จะให้พวกเขาทำตามที่เราต้องการ อาจเกิดขึ้นในระหว่างการเจรจาต่อรอง หากผู้มีอิทธิพลมีความรู้ มีการแก้ต่าง ให้ข้อมูลใหม่ ๆ มีการพูดสนับสนุนที่น่าเชื่อถือ
  • ความน่าเชื่อถือ (Credibility) เป็นความเข้าใจรับรู้ว่าแหล่งที่มาของข้อมูล และข้อมูลที่นำเสนอนั้น มีคุณภาพขนาดไหน น่าเชื่อถือเพียงไร
  • บุคลิกภาพ (Personality) เป็นการรวมกันของรูปร่างหน้าตา บุคลิกลักษณะ และอุปนิสัย มีอารมณ์ความรู้สึก มีคุณค่าส่วนบุคคล แสดงออกตามรูปแบบลีลา สไตล์การเจรจาต่อรอง เช่น อ่อนน้อมถ่อมตนแบบไทย ๆ หรือการแสดงออกอย่างตรงไปตรงมาแบบฝรั่ง
  • ทัศนคติ (Attitudes) เป็นการตกผลึกทางความคิด ความรู้สึก เป็นเครื่องบ่งชี้สภาพจิตใจ บ้างก็แสดงพฤติกรรมก้าวร้าว บ้างก็แสดงพฤติกรรมมั่นใจในตนเอง
    • ในการเจรจาต่อรอง ควรสร้างทัศนคติที่ว่าทุกสิ่งทุกอย่างล้วนต่อรองกันได้
    • การประนีประนอมย่อมเกิดขึ้นได้ในทุกสถานการณ์
    • มีน้ำใจนักกีฬา มีใจเป็นธรรม (Fair Play)
  • การสื่อสารทั้งวัจนภาษา และอวัจนภาษา (Verbal and Non-verbal Communication) เป็นสิ่งจำเป็นในกระบวนการเจรจาต่อรอง เพราะเป็นการลำเลียงเนื้อหา และส่วนประกอบอื่น ๆ เพื่อโน้มน้าว ชักจูง แสดงอำนาจ อิทธิพล ความน่าเชื่อถือ ให้คู่เจรจาคล้อยตาม
  • วัฒนธรรม (Culture) มนุษย์มีศิลปะ มีความคิด และพฤติกรรมทางสังคม มีภูมิหลังทางวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน เช่น เรื่อย ๆ มาเรียง ๆ แบบไทย ๆ กับเร่งรีบ รวดเร็ว แบบฝรั่ง เชื้อชาติ สีผิว หรือเผ่าพันธุ์ที่แตกต่างกัน เช่น สุภาพเรียบร้อยในชนชั้นศักดินา กับขวานฝ่าซากแบบชาวบ้านที่จริงใจ
  • ช่องทาง (Channels) การเจรจาต่อรองเป็นกลไกที่จะนำเนื้อหา หรือข้อความไปยังคู่เจรจา ซึ่งมีอิทธิพล และรูปแบบที่แตกต่างกันไป ดูเหมือนว่า การเจรจาต่อรองแบบทีมจะเป็นโครงสร้างที่ได้รับความนิยม
  • วางใจ เชื่อถือได้ (Trust) เป็นความเข้าใจรับรู้ว่าเป็นที่น่าเชื่อถือ ไว้วางใจได้ โดยไม่จำเป็นต้องมีหลักฐาน หรือการสืบสวน
  • เวลา (Time) เป็นอำนาจทางยุทธศาสตร์ การควบคุมเวลาในการเจรจาต่อรองถือเป็นความน่าเชื่อถืออย่างหนึ่ง ความไม่เร่งรีบในการเจรจาต่อรองถือเป็นอำนาจแบบหนึ่ง หากพบกับคู่เจรจาที่ได้รับแรงกดดันให้ต้องปิดการเจรจาโดยเร็ว
  • อื่น ๆ (Others)
    • โลกทัศน์ที่แตกต่างกัน เช่น แนวคิดมุมมองของนายทุน ยอมต่างกับผู้ที่อยู่ในแวดวงเศรษฐกิจพอเพียง
    • ปัจจัยทางจิตวิทยา ที่รู้สึกว่าถูกโฉลก หรือไม่ถูกโฉลก
    • การระวังรักษาความสัมพันธ์ทั้งก่อนและหลังของคู่เจรจา
แม้ว่าท่านจะได้รับการพัฒนาทักษะ หรือเข้าใจการเจรจาต่อรองอย่างแตกฉาน ก็ไม่มีอะไรเป็นหลักประกันว่าการเจรจาต่อรองจะประสบความสำเร็จทุกครั้งไป เพราะมีปัจจัยอื่น ๆ มีองค์ประกอบที่แตกต่างกันมากมายระหว่างคู่เจรจา มีข้อมูลเชิงลึกมากมายที่สลับซับซ้อนจนท่านมิอาจค้นหา หรือเข้าใจได้ทั้งหมด มีสภาพแวดล้อมมากมายที่อาจนำไปสู่ความล้มเหลว เพราะฉะนั้น การเตรียมตัวและการวางแผนอย่างมืออาชีพเท่านั้น ที่จะลดระดับความล้มเหลว เพิ่มอัตราความสำเร็จได้

สรรพัชญ์ เลี้ยววาริณ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น