วันอังคารที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

อวสานเซลล์แมน – จุติอวตาร

ในแต่ละวงการก็จะประกอบไปด้วยคนดี คนที่ยังดีไม่พอ กับคนที่มีดีน้อย คละเคล้ากันไปหลากหลายประเภท ในแวดวงของการตลาด การขาย ก็ไม่แตกต่างกัน พนักงานบางคนขยันขันแข็ง ฝึกปรือวิทยายุทธ์จนสร้างโอกาสให้กับตนเอง ครอบครัว และสังคมได้มากมาย เช่น การเลื่อนตำแหน่ง ปรับขึ้นเงินเดือน รับโบนัสพิเศษ ฯลฯ

สาเหตุที่สำคัญประการหนึ่งของ “อวสานเซลล์แมน” ก็คือ การใช้จ่ายเงินเกินตัว ส่งผลให้พนักงานขายไม่เป็นมืออาชีพอีกต่อไป และถือเป็นฉากสุดท้ายของพนักงานผู้นั้นเลยทีเดียว

ลักษณะงานอาชีพที่สำคัญของพนักงานขายก็คือ “การเดินทาง” หลายคนต้องเดินทางรอนแรมจากบ้าน จากครอบครัว “ไปไกล” และ “ไปนาน” ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับเขตขายที่ตนเองรับผิดชอบ บางคนดูแลเขตเหนือสุด หรือใต้สุดของประเทศ ครอบคลุมหลายจังหวัด หลายอำเภอ หรือหลายตำบล ก็อาจใช้เวลาทำงานในภาคสนามยาวนานร่วมเดือน

บางคนที่ไม่ชอบการเดินทาง หรือไม่คุ้นเคยกับการเดินทาง ก็อาจป่วยแบบ Home Sick ไปเลยก็ได้ แต่หลายคนก็สนุกไปกับการเดินทาง มีความสุขกับการพบปะพูดคุยกับผู้คนประเภทต่าง ๆ แก้ไขปัญหาที่ไม่ซ้ำกันเลยในแต่ละวัน สร้างโอกาสการเรียนรู้ในหลายแง่มุมของชีวิต

พนักงานขายที่ “เอาถ่าน” ก็จะใช้เวลาตอนเย็นหรือตอนกลางคืนหลังเลิกงาน ทำรายงานการขายประจำวัน (Daily Activity Sales Report) บันทึกสถานะสต๊อกสินค้าและการสั่งซื้อในระเบียนประวัติ (Dealer Record Card หรือ Call Card) จัดเก็บเงินสดหรือเช็คที่ได้รับมาเพื่อเตรียมเข้าธนาคารในวันรุ่งขึ้น วิเคราะห์ข้อมูล และจัดเตรียมข้อมูลที่จำเป็นต่อการเข้าเยี่ยมในวันต่อ ๆ ไป

ส่วนพนักงานขายที่ “ไม่เอาทั้งแก๊ส และถ่าน” ก็จะหลงระเริงไปกับ “สุรา นารี พาชี กีฬาบัตร” ผู้คนในกลุ่มนี้มักจะมีข้ออ้างที่น่าฟังเสมอ เช่น “โดนลูกค้าดุมาทั้งวันแล้ว ขอพักซะบ้าง...”, “เดินทางคนเดียว ทำงานคนเดียว เหงา... อยากมีเพื่อน”, อยู่ต่างจังหวัดเงียบ ๆ เซ็ง ไม่มีอะไรทำ หาคู่นอนแก้เซ็งดีกว่า”, “ผมเป็นคนตลกเฮฮา เพื่อน ๆ เลยติดผม เกาะกันเป็นกลุ่ม ไปไหนมาไหน ก็ขอไปด้วย”, ฯลฯ เหตุผลดี ๆ ทั้งหมดทั้งหลายเหล่านี้นำมาซึ่งกิจกรรมต่าง ๆ ตามแต่จริตของแต่ละคน หรือแต่ละกลุ่ม ในแต่ละคืนไม่ซ้ำกัน

“ผมมีความสุขกับการดื่ม จะเป็นเบียร์หรือเหล้า ขอให้เมาเป็นใช้ได้...”, “จะมีกับแกล้ม หรือไม่มีผมก็ไม่เกี่ยง... พบเพื่อนที่รู้ใจ ไม่เมามาย ไม่เลิกรา...”, กลุ่มคนที่ชื่นชอบ “สุรา” นี้ ก็อาจแบ่งได้ตามระดับดีกรี บ้างก็สามารถออกไปทำงานได้ตามปกติในเช้าวันรุ่งขึ้น บ้างก็ตอนนอนตื่นสาย บ้างก็เมาค้างจนเสียงานไปอีกวัน

กลุ่มคนที่ชื่นชอบ “นารี” อาจเป็นคนที่อยู่ในกลุ่มเดียวกับคนที่ร่ำสุรา หรืออาจเป็นคนละกลุ่มก็ได้ ขึ้นอยู่กับระดับความต้องการที่จะปลดปล่อย บ้างก็รู้สึกดีเพียงแค่การฟังเพลงซึ้ง ๆ พร้อม ๆ กับการลุ้นนักร้องในคาเฟ่ บ้างก็เรียกหาสาวพาร์ตเนอร์เอวบาง ร่วมวงชงและดวด บ้างก็ขอสนุกกับสาวอะโกโก้ใจถึง ร่วมลีลาท่าเต้นฉวัดเฉวียน บ้างก็เลือกที่จะดื่มด่ำบรรยากาศในสถานลีลาศหรูกลางเมือง หลายคนในกลุ่มนี้ก็ลุ่มหลงมัวเมาขนาดให้ทิปมากกว่าเงินที่หามาได้ต่อวัน

กลุ่มคนที่อยู่ในเมืองหลวง อาจมีโอกาส “แทงม้า” แบบสด ๆ ริมขอบสนามในช่วงวันหยุด ส่วนพนักงานขายภูธรที่ไม่มีสนามม้า ก็สามารถสนุกกับการเขย่า “ตู้พาชี” (คล้ายกับ slot machine) ซึ่งหาได้โดยไม่ยาก แต่หากไม่ชอบบรรยากาศที่อุดอู้ในที่ลับ ก็สามารถสนุกกับ “กีฬาบัตร” เช่น รัมมี่ ไฮโล ป๊อกเด้ง ฯลฯ ได้ตามอัธยาศัย เพราะสถานที่พักส่วนใหญ่ก็รโหฐานเพียงพอกับการรวมแก๊ง

ในยุคกลางเก่า กลางใหม่ ก็มีสิ่งล่อใจเพิ่มเติม เช่น สนุกเกอร์ บิลเลียต โบว์ลิ่ง ฯลฯ และในยุคสมัยใหม่นี้ มีกับดักล่อเรามากยิ่งกว่าเดิม ทั้งผับ ทั้งคาราโอเกะ เน็ตคาเฟ่ หรือสถานบันเทิงในรูปแบบใหม่ ๆ มากมาย หากไม่รู้เท่าทัน หลงระเริงไปกับ “สิ่งปรุงแต่ง” หรือเรื่องราวที่เกิดจาก รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสทั้งหลาย ก็จะยิ่งเป็นเหตุให้ใช้จ่ายเงินเกินกว่าที่จะหามาได้

หลายคน “รอด” จากความลุ่มหลงมัวเมามาได้ เพราะมีเป้าหมายในชีวิต มีแรงบันดาลใจ มีความทะเยอทะยาน มีความมุ่งมั่นตั้งใจ หลายคนได้เลื่อนตำแหน่ง เป็นใหญ่เป็นโตในองค์กรต่าง ๆ แม้ว่าบางคนอาจมีข้อจำกัดบางประการ แต่ก็สามารถสร้างความประทับใจให้กับลูกค้า จนกระทั่งเป็น “ขาประจำ” ในขณะที่ “มิจฉาทิฎฐิ” หลายคนต้องถูกจองจำในคุกตะราง เพราะมีคดีติดตัว เนื่องจากสภาพหนี้ที่ตนเองก่อขึ้นมาจากอบายมุขทั้งหลาย

พนักงานขายหน่วยรถเงินสด ก็จะ “หยิบยืมสต๊อคสินค้าในรถ” ขายได้เป็นเงินสด และนำเงินไปใช้ส่วนตัว
พนักงานขายเครดิต ก็จะร้องขอให้ห้างฯ ร้านฯ ชำระค่าสินค้าตามใบแจ้งหนี้เป็นเงินสด หรือให้เขียนเช็คเงินสด หมุนเงินไปใช้สบายอุรา ไม่นานก็จะเป็น “ดินพอกหางหมู” หากเป็นมือใหม่ก็จะถูกจับได้โดยผู้บังคับบัญชา แต่ถ้าเป็นมืออาชีพ ก็จะทำได้อย่างแนบเนียน ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างมาก เช่น การให้เปอร์เซ็นต์ส่วนลดพิเศษเมื่อจ่ายเงินสด และทำเช่นนี้กับลูกค้าทั้งจังหวัด หรือเฉพาะกับใบแจ้งหนี้ที่มียอดเงินสูง ๆ แล้วก็เชิดเงินหนีไป

รายที่จับไม่ได้ ก็ต้องหนีหัวซุกหัวซุน ไม่เป็นผู้เป็นคน ต้องอยู่แบบหลบ ๆ ซ่อน ๆ จนกว่าคดีจะขาดอายุความ รายที่ถูกจับได้ ก็ต้องติดคุก ติดตะรางตามกรรมที่ก่อเอาไว้ พนักงานหลายคนต้องถูกจำคุกยาวนาน เพราะการตัดสินคดีแบบนี้ แม้ว่าจะมีโทษไม่มากก็จริง แต่เมื่อรวม ๆ กันหลาย ๆ กระทง ก็อาจทำให้ต้องถูกจองจำไปจนชั่วชีวิตเลยก็ได้

เรื่องราวต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นนี้ ก่อให้เกิดผลกระทบในวงกว้าง ทั้งที่สามารถตีเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจ และผลกระทบทางจิตใจที่ประเมินค่ามิได้ นอกจากที่ตนเองจะต้องถูกจองจำ ครอบครัวก็อาจขาดผู้นำ และได้รับผลกระทบ เงินลงทุนของนายจ้างในกระบวนการสรรหาบุคลากร (Recruitment) ฝึกอบรมพัฒนา (Training and Development) และกระบวนการรักษาคน (Retention) ก็จะสูญเปล่า ผลกระทบในทางสังคม ตำรวจ อัยการ และศาลต้องทำคดีเพิ่มเติม ภาพลักษณ์ของพนักงานขายถูกทำลายเป็นที่เสื่อมเสีย ผู้คนไม่ไว้ใจคนที่ทำงานในอาชีพนี้ ทำให้พนักงานขายรุ่นใหม่ ๆ ไม่ค่อยได้รับความสะดวก และยากต่อการเข้าพบ

“อวสานเซลล์แมน” นี้จะไม่เกิดขึ้นเลย หากเราเข้าใจ และตั้งมั่นอยู่ใน “สัมมาทิฏฐิ” – คือความรู้ชอบ ความคิดชอบ ความเห็นชอบ เป็นความเห็นตรง ความถูกต้องตามทำนองคลองธรรม เห็นหรือเข้าใจสภาพความเป็นจริง เช่น เห็นว่าทำดี ได้ดี ทำชั่ว ได้ชั่ว – โดยไม่มีคำว่า “รู้อย่างนี้ ไม่ทำดีกว่า”

ตัวอย่าง “ดินพอกหางหมู” จนทำให้เกิด “วงจรอุบาทว์” นี้ จะไม่เกิดขึ้นเลย หากเราเข้าใจ และตั้งมั่นอยู่ใน “หิริ โอตตัปปะ”

“หิริ” คือความละอายใจต่อบาป เป็นความละอายที่เกิดขึ้นในใจตนเอง เป็นความไม่สบายใจ รู้สึกรังเกียจ รู้สึกกินแหนงแคลงใจ รู้สึกเศร้าหมอง หรือรู้สึกกระดากใจหากคิด หรือจะทำในสิ่งที่เป็นบาป หรือความไม่ดีงามทั้งหลาย ความละอายใจนี่แหละเป็นต้นเหตุให้ทำแต่ความดี

“โอตตัปปะ” คือความเกรงกลัวต่อผลของบาป เป็นความรู้สึกกลัว กลัวความชั่ว กลัวคนอื่นเขาจะรู้จะเห็น กลัวจะอับอาบขายหน้า กลัวว่าผลของการกระทำนั้นจะก่อให้เกิดความทุกข์มหันต์ จึงไม่ยอมทำบาป

เลือกเอาเองก็แล้วกันว่าจะมุ่งหน้าเดินไปทางไหน ระหว่าง “อวสานเซลล์แมน” กับ “จุติอวตาร”

สรรพัชญ์ เลี้ยววาริณ
21 พฤศจิกายน 2553

ปฏิสัมพันธ์กับ “ชุมชนของเรา”

นอกเหนือจากข้อมูลที่เป็นการแนะนำให้รู้จักกับบริษัทฯ หรือคำอธิบาย “บริการของเรา” เพื่อให้ได้รับทราบกันแล้ว เรายังได้ออกแบบ พัฒนา www.bizzbackup.co.th ให้สามารถสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันได้ภายใน “ชุมชนของเรา” ซึ่งเชื่อว่าเป็นเครือข่าย (Networking) ใหญ่ เป็นชุมชนของคนทำงานในวิชาชีพการบริหารจัดการ การตลาด การบริหารช่องทางการจัดจำหน่าย การบริหารลูกค้าหลัก การขาย การเจรจาต่อรอง การจัดซื้อ ผู้ประกอบกิจการ SMEs นิสิต นักศึกษา และประชาชนผู้สนใจทั่วไป

ทุกคนในเครือข่ายนี้สามารถสร้างปฏิสัมพันธ์กันได้ผ่าน “Bizz News (ห้องข่าวของเรา)” ซึ่งได้เชื่อมโยงข่าวธุรกิจให้ได้รับรู้แบบสื่อสารทางเดียว (One-way communication) เรามีบทความที่เกี่ยวกับวิชาชีพของเรามากมายใน “Backup Blogs (บล็อกของเรา)” เพื่อให้แสดงความคิดเห็นแบบสื่อสารสองทาง (Two-way communication) และ “Webboard (เว็บบอร์ด)” เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้คนในชุมชนนี้สอบถามประเด็นปัญหาต่าง ๆ และสมาชิกในเครือข่ายหลาย ๆ คนก็จะช่วยกันแบ่งปันคำตอบแบบสื่อสารหลาย ๆ ทางกับคนคอเดียวกัน (Multiple communication) ได้อย่างกว้างขวาง

Bizz News แบ่งเป็น 3 ส่วนใหญ่ ๆ ส่วนแรกคือ “Our Events (ข้อมูลข่าวสารของเรา)” เป็นข้อความสั้น เป็นข่าวสั้น ๆ เพื่อประชาสัมพันธ์กิจกรรม หรือเหตุการณ์ที่น่าสนใจของบริษัทฯ ส่วนที่สองเป็น “National News (ข่าวธุรกิจภายในประเทศ)” และส่วนที่สามเป็น “International News (ข่าวธุรกิจระดับนานาชาติ)” ซึ่งเราได้ลิงค์ไปยังสำนักข่าวที่น่าเชื่อถือเหล่านั้น

เราตั้งใจพัฒนา Backup Blogs ให้เป็นสมุดบันทึกส่วนตัวแบบออนไลน์ อาจเขียนเป็นข้อความสั้น หรือเป็นบทความยาว แล้วแต่อารมณ์ในขณะนั้น อาจเป็นคำอธิบายตามแต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น อาจเป็นการแสดงความคิดเห็นส่วนบุคคล อาจเป็นการถ่ายทอดความรู้ หรือประสบการณ์ที่น่าสนใจ ทั้งหลายทั้งหมดนี้ เป็นเพราะเรามีความตั้งใจที่จะแบ่งปันมุมมองต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับวิชาชีพ เป็นการเสริมการเรียนรู้

เราทราบดีว่าการนำเสนอด้วยตัวอักษรเป็นสิ่งที่น่าเบื่อมากกว่าการนำเสนอด้วยภาพ หรือเสียง แต่ดูเหมือนว่าเราจะหลีกเลี่ยงไม่ได้ อย่างไรก็ตาม เราจะพยายามเขียนแบบเบา ๆ สบาย ๆ เราเป็นเพียงนักเขียนมือสมัครเล่น การเขียนของเราจึงไร้รูปแบบ บางอารมณ์อาจเคร่งขรึมเป็นการเป็นงาน บ้างก็อาจมีการกระเซ้าเย้าแหย่ หยอกล้อกันเล่น บ้างก็อาจมีการเหน็บแนมแกมประชด เสียดสีให้หายคัน เราจะพยายามเขียนให้ครบทุกรส

องค์ประกอบในธุรกิจเปลี่ยนแปลงไปได้เสมอตามเงื่อนไขต่าง ๆ ไม่มีอะไรที่เป็นสูตรสำเร็จ หรือสามารถนำไปใช้ได้เลยแบบ Copy and Paste หรือ One-size-fits-all ทุกอย่าง “มันขึ้นอยู่กับ... (It depend…)” ปัจจัย (Factor) ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น เพราะฉะนั้น ทุกอย่างที่คิด ทุกประเด็นที่เขียน ไม่จำเป็นต้องถูกเสมอ ขอย้ำ... ในธุรกิจ ไม่มีอะไรที่ถูกทั้งหมดหรือผิดทั้งหมด “มันขึ้นอยู่กับ...” จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ท่านต้องใช้วิจารณญาณ – “คิดให้ขาด” ก่อนนำความคิดเห็นเหล่านั้นไปลงมือทำจริง ๆ

เราออกแบบ และพัฒนา Webboard ด้วยความเชื่อที่ว่า การเรียนรู้นั้นไม่มีขอบเขต (Learning Without Boundary) ผู้คนเรียนรู้ได้อย่างต่อเนื่อง (Continuous Learning) เรียนรู้ได้ตลอดชีวิต (Lifetime Learning) และสามารถเรียนรู้แบบออนไลน์ได้ฟรีที่นี่ในรูปแบบนานาทัศนะของกระดานข่าว

การโพสต์ข้อความเพื่อสนทนาแบบออนไลน์นี้ เป็นการสร้างโอกาสในการถาม-ตอบปัญหาได้โดยตรงจากมืออาชีพ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ต่าง ๆ ระหว่างกันภายในเครือข่าย รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลข่าวสารล่าสุดในแวดวงธุรกิจ และเพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงความยุ่งยากต่าง ๆ ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นกับเว็บบอร์ดของเรา จึงจำเป็นต้องคัดกรองสมาชิก โดยผ่านกระบวนการ “สมัครสมาชิก และเข้าสู่ระบบ เพื่อแสดงความคิดเห็น” ก่อนการเข้าใช้เว็บบอร์ดนี้

คณะผู้บริหารของบริษัทฯ มีความตั้งใจที่จะแบ่งปันประสบการณ์ตรงจากการทำงานจริง และยกระดับคุณภาพของบุคลากรภายในประเทศให้มีศักยภาพ มีความรู้ความสามารถ มีกรอบความคิด และมุมมองต่าง ๆ ที่เป็นสากลเพื่อสามารถแข่งขันกับนานาอารยประเทศได้ แน่นอนที่สุด งานใหญ่เช่นนี้เราไม่สามารถทำได้ด้วยกำลังที่มีอยู่ของเรา และเราต้องการ “กำลังเสริม”

ท่านที่มีความรู้ มีประสบการณ์ สามารถจัดเวลาได้ มีความปรารถนาดีต่อผู้คนในสังคม และมีความเอื้อเฟื้อต่อผู้คนในชุมชนของเรา ท่านสามารถเป็น “กำลังเสริม” ได้ด้วยการแบ่งปันบทความที่เป็นประโยชน์เพื่อลงใน Backup Blogs หรือแสดงความคิดเห็นของท่านผ่าน Webboard แม้กระทั่งการแนะนำให้ทีมงานหรือเพื่อนของท่านสมัครเป็นสมาชิกเพื่อร่วมกันสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันภายใน “ชุมชนของเรา”

สรรพัชญ์ เลี้ยววาริณ
12 กรกฎาคม 2553

ชื่อนั้น สำคัญฉะนี้

บางคนให้ความเห็น “ชื่อนั้น สำคัญไฉน” – ตั้งชื่ออะไรก็ได้ ไม่สำคัญ ขอให้มีสินค้าประเภท “โดนใจ” และบริการดีมีคุณภาพเป็นพอ ที่เหลือก็ปล่อยให้ฟันเฟืองมันทำงานไปเอง

บางคนให้คำแนะนำ “ตั้งชื่อเหรอ สำคัญนะ ต้องให้ถูกโฉลกด้วย...” ตัวอักษรตัวแรกควรเป็น “มนตรี” ต้องมี “ศรี... เดช... มูละ...” และต้องมีอะไรต่อมิอะไรตามหลักการเสริมดวงชะตา จะได้รวยเร็ว!

วันที่ตัดสินใจเติมเต็มให้กับชีวิต ทำในสิ่งที่ชอบ ทำในสิ่งที่ใฝ่ฝัน ทำเพราะความตั้งใจแบ่งปันประสบการณ์ และเลือก “จุดเปลี่ยน” มาเป็นผู้ประกอบการประเภท “ต้นทุนต่ำ” ก็มองเห็นชะตาตนเองแล้วว่า “รวยยาก” เพราะฉะนั้น การทำงาน “เพราะงาน” หรือการทำงานแบบ “เอามัน” จึงมีเสน่ห์ในแบบฉบับของมัน

งานอาชีพที่ผ่านมาได้ถูกหล่อหลอมให้เป็นผู้บริหาร ผู้จัดการ เป็นนักการตลาด เป็นนักธุรกิจ เป็นนักขาย เพราะฉะนั้นการตั้งชื่อที่เป็น Naming the Branding ถือเป็นสิ่งสำคัญลำดับต้น ๆ เทียบได้กับการสร้างคุณภาพของสินค้าหรือบริการเลยทีเดียว เพราะผู้คนจะรู้จัก จดจำชื่อได้ หรือจำไม่ได้ กล่าวคือ ผู้คนจะรู้จัก จดจำ คุณค่าการสัมผัสรับรู้ (Perceived Value) ตั้งแต่วินาทีแรกที่ได้พบเห็น และรู้สึกสัมผัส หรือระลึกได้เอาตามประสบการณ์ของตนเองว่าแบรนด์นั้น ๆ น่าจะมีบุคลิกลักษณะอย่างไร

การตั้งชื่อบริษัท หรือการตั้งชื่อแบรนด์ ไม่แตกต่างจากการตั้งชื่อให้กับทารกเกิดใหม่ พ่อแม่ทุกคนจะพิถีพิถัน ใช้เวลาไปกับการคิดพิจารณา ไตร่ตรองอย่างละเอียดถี่ถ้วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลิตภัณฑ์ที่ขายนั้นเป็นการให้บริการ เป็นอะไรที่จับต้องได้ยากกว่า “สินค้า” โดยทั่วไป จึงได้กำหนดหลักเกณฑ์เอาไว้ ดังนี้

  •      จะต้องเป็นชื่อที่ใช้ร่วมกันได้ระหว่างชื่อบริษัท กับชื่อแบรนด์ โดยไม่เคอะเขิน
  •      จะต้องเป็นชื่อเท่ ๆ ที่พัฒนาหรือสร้างเป็นแบรนด์ได้ (Brand Building)
  •      จะต้องออกแบบเป็น “เครื่องหมายการค้า หรือตราสัญญลักษณ์ (Trademark or Service mark)
  •      จะต้องเป็นชื่อที่สร้างความสะดุดใจ สร้างความสนใจ ชี้ชวน สร้างคุณค่าการสัมผัสรับรู้ได้ในทันที
  •      จะต้องเป็นชื่อที่บ่งบอก หรือเปรยให้เห็นถึงผลประโยชน์หลักของบริการของเรา
  •      จะต้องเป็นชื่อที่สั้น กระชับ และจดจำได้ง่าย
  •      จะเป็นการดีมาก หากจะคิดค้นชื่อที่เล่นคำในรูปแบบการสัมผัสอักษร (Alliteration) ได้เช่น Coca Cola, Dunkin Donuts, BlackBerry เป็นต้น
แม้ว่าจะได้กำหนดโจทย์ที่ท้าทาย แต่ก็สามารถคิดค้นชื่อได้หลายชื่อ มีเพียงชื่อเดียวที่ “โดน” ที่สุด นั่นก็คือ VertiCurves เป็นการผสมของคำ 2 คำ ระหว่างคำว่า Vertical ซึ่งแปลว่า เป็นแนวดิ่ง เป็นแนวตั้ง หรือตั้งอยู่ที่จุดสูงสุด และคำว่า Curve ซึ่งแปลว่า เส้นเว้า เส้นโค้ง หรือเส้นของข้อมูลบนกราฟ ในที่นี้ให้หมายความว่า เป็นบริษัทที่จะมีส่วนช่วยให้เกิดอัตราการเจริญเติบโตแบบก้าวกระโดด คือมีเส้นกราฟหลาย ๆ เส้น (เติม s) พุ่งสูงขึ้นเป็นแนวตั้ง

แต่พอนำชื่อนี้ไปเปรียบเทียบกับโจทย์ที่ตั้งเอาไว้ ก็รับรู้ได้ในทันทีว่า “ยังไม่ใช่” เพราะ VertiCurves (เวอร์ติเคิร์ฟส์) ฟังดูเท่ก็จริง แต่ออกเสียงยาก จดจำได้ยาก และต้องใช้เวลาอธิบายจึงจะบ่งบอก หรือเปรยให้เห็นถึงผลประโยชน์หลัก ไม่ได้สัมผัสรับรู้ได้ในทันที

ในที่สุด ก็ตัดสินใจ “รบกวน” พี่ชายทั้ง ๆ ที่รู้สึกเกรงใจเป็นอย่างมาก เพราะทราบดีว่าเป็นคนที่มีงานยุ่งตลอดเวลา – คุณวินทร์ เลียววาริณ www.winbookclub.comอดีตสถาปนิกและศิลปินคนโฆษณา ปัจจุบันเป็นนักเขียนมืออาชีพ ผลงานเป็นที่ประจักษ์ รางวัลซีไรต์ 2 สมัย รางวัลศิลปาธร ฯลฯ

หลังจากที่ได้วิพากษ์กันไป วิจารณ์กันมาหลายรอบ ก็ได้สร้างสรรค์ชื่อใหม่ ๆ เพิ่มเติมขึ้นมาอีกหลายชื่อ ทำให้ปวดเศียรเวียนเกล้ามากกว่าเดิม ท้ายที่สุด ก็ตัดสินใจเลือกใช้คำที่ “ตอบโจทย์” มากที่สุด นั่นก็คือ “Business Backup” เป็นการรวม 2 คำเข้าไว้ด้วยกัน คำว่า Business แปลว่า ธุรกิจ การค้า การพาณิชย์ ส่วนคำว่า Backup แปลว่า กำลังสนับสนุน หรือกำลังสำรอง ในที่นี้ให้หมายความว่า เป็นบริษัทที่ให้บริการสนับสนุน ส่งเสริมธุรกิจ โดยตั้งใจที่จะใช้ชื่อภาษาไทยว่า “กำลังเสริม”

กระบวนการออกแบบตราสัญญลักษณ์ กระบวนการนำไปจดลิขสิทธิ์และเครื่องหมายการค้าเป็นไปอย่างเรียบร้อยลงตัว แต่ชีวิตไม่ได้ดำเนินไปอย่างราบเรียบไร้อุปสรรค เพราะเราไม่สามารถจองชื่อในขั้นตอนการจดทะเบียนนิติบุคคลได้ เนื่องจากมีนิติบุคคลอื่นได้จดทะเบียนเอาไว้ก่อนหน้านี้แล้ว

เหมือนโลกถล่ม ฟ้าดินทลาย นั่นหมายความว่าเราต้องคิดค้นชื่อใหม่! นั่นหมายความว่าเราเสียเวลาไปโดยเปล่าประโยชน์จากการคิดค้นที่ผ่านมา ไม่... เราไม่ต้องการเสียเวลาไปมากกว่านี้อีกแล้ว...”

ในขั้นตอนของการ “สำรวจ และทดสอบตลาด” เราพบว่า การออกเสียงคำว่า “บิ๊สเน้ส” ให้ถูกต้อง ก็ไม่ใช่เป็นเรื่องง่ายสำหรับคนไทยส่วนหนึ่ง แต่ด้วยความเร่งรีบเพื่อให้ทุกอย่างทันตามกำหนด จึงได้ตัดสินใจใช้คำนี้ ในช่วงที่เรียกว่า “เซ็งเป็ด” นั้น เป็นช่วงเวลาที่เราได้คิดทบทวนใหม่ และใช้ข้อมูลจากการทดสอบตลาดมากขึ้น

เราเชื่อว่าเรามาถูกทางแล้ว เราจึงจำกัดประเด็น เราไม่ยอมเสียเวลาไปกับการคิดชื่อใหม่ เรานำชื่อที่ได้คิดเอาไว้ทั้งหมดมาปัดฝุ่น ทบทวน แล้วเราก็พบกับทางออกใหม่ที่ดีกว่าเดิม

คำว่า “Business” ในภาษาอังกฤษ มีชื่อเล่นที่ใช้กันอย่างเอริกเกริก และคนไทยส่วนใหญ่ก็คุ้นเคยกันเป็นอย่างดี นั่นก็คือคำว่า “Biz” – บราโว... ทันสมัยมากกว่า ชักเข้าเค้า... แต่ อืมม... มันจะดีเหรอ ชื่อบริษัทควรเป็นอะไรที่ดูเคร่งขรึม จริงจัง...” อย่ากระนั้นเลย เติม z เข้าไปอีกตัวให้ดูเก๋ไก๋ และให้ดูเป็นชื่อเฉพาะที่เด่นสะดุดตามากกว่า

Bizz Backup” หรือ “บิซ แบ๊กอัพ” ในภาษาไทย เป็นการปรับจาก Business Backup – สั้น กระชับ และดูเท่กว่าเดิม คำว่า “Bizz” ยังสร้างคุณค่าการสัมผัสรับรู้ได้ว่าเป็นอะไร ๆ ที่เกี่ยวกับธุรกิจโดยไม่เสียอรรถรส แถมยังได้รูปแบบการสัมผัสอักษรเหมือนเดิม เข้าข่ายครบทุกหลักเกณฑ์ที่ได้กำหนดไว้

ท่านเห็นด้วยหรือไม่ว่า “ชื่อนั้น สำคัญฉะนี้”

สรรพัชญ์ เลี้ยววาริณ
30 เมษายน 2553

ทุ่มเทกายใจ วิจัยพัฒนา

จากแนวความคิดและทัศนคติต่องานอาชีพที่ยึดถือมาโดยตลอด นั่นก็คือการส่งมอบผลงานให้กับลูกค้าของเราแบบ “เกินความคาดหมาย (Exceed Expectation)” โดยให้ความสำคัญและมุ่งเน้นไปที่ “ลูกค้าเป็นศูนย์กลาง (Customer Centric)” หรือ “ลูกค้าต้องมาก่อน (Clients Come First)” ทำให้เราได้สร้าง “ความพึงพอใจสูงสุด” ให้กับลูกค้าอย่างต่อเนื่องอยู่ตลอดเวลา

ความตั้งใจอย่างหนึ่งซึ่งเป็นเป้าหมายที่เราได้กำหนดไว้ก็คือ เราคาดหวังว่าลูกค้าของเราจะ “ซื้อเพิ่ม ซื้อซ้ำ และบอกต่อ” กล่าวคือ เมื่อเราทำให้ลูกค้าได้รับ “คุณประโยชน์ (Benefits)” ที่คุ้มค่ากับเงินที่ลงทุนไป ลูกค้าเกิดความประทับใจในบริการของเรา เกิดความพึงพอใจสูงสุด ผลสะท้อนก็จะเป็นไปในทางบวก นำไปสู่การตัดสินใจ “ซื้อเพิ่ม ซื้อซ้ำ หรือบอกต่อ”
  • ซื้อเพิ่ม หมายถึง ซื้องานบริการด้านอื่น ๆ เป็นการเพิ่มเติม
  • ซื้อซ้ำ หมายถึง ซื้องานบริการนั้น ๆ ให้กับบุคคล หรือหน่วยงานอื่น ๆ ในองค์กร
  • บอกต่อ หมายถึง การชี้ชวน แนะนำให้เพื่อน ๆ ได้รับทราบ ให้คำนิยมและสนับสนุนให้ใช้บริการของเรา
ด้วยความมุ่งมั่นที่จะเป็นเลิศ และความตั้งใจอย่างแน่วแน่ที่จะส่งมอบทางเลือกคุณภาพที่ให้คุณค่า จับต้องได้ เราจึงต้องทำอะไร ๆ ที่แตกต่างไม่เหมือนใคร เราจึงต้องทำอะไร ๆ ที่พิเศษมากกว่า เราจึงต้องใส่ความพิถีพิถัน และทำงานในรายละเอียด เราจึงต้องลงทุนใช้ทรัพยากรมากมายไปกับงาน “วิจัยพัฒนา” ทั้งนี้ก็เพื่อให้บริการของเราสามารถ “ตอบโจทย์” องค์กรต่าง ๆ ได้

ความใฝ่ฝันส่วนตัวที่สั่งสมมายาวนาน มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อการ “เก็บ หมัก และบ่ม” เพราะตลอดระยะเวลากว่า 18 ปีที่ผ่านมา ได้เก็บรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้อง จดบันทึกทุกประเด็นปัญหา และจัดกลุ่มเนื้อหาที่น่าสนใจต่าง ๆ เอาไว้มากมาย

กว่า 18 เดือนที่ผ่านมา ได้สังเคราะห์ออกเป็นเค้าโครงเรื่องทั้งหมด 7 หลักสูตรใหญ่ ๆ และพัฒนา ออกแบบให้เป็นหลักสูตร (Training Module) เพื่อการ “อบรมพัฒนา” ได้เพียง 4 หลักสูตร อีก 3 หลักสูตรที่เหลือกำลังอยู่ในระหว่างการพัฒนาเนื้อหาในรายละเอียด

หลักสูตรการฝึกอบรมพัฒนาที่ออกแบบพิเศษเฉพาะ ครอบคลุมเรื่อง เสริมทักษะการขาย เสริมทักษะการโค้ช หรือการฝึกสอน เสริมทักษะการเจรจาต่อรอง การบริหารจัดการลูกค้าหลัก การบริหารจัดการศูนย์กระจายสินค้า การบริหารจัดการกลุ่มผลิตภัณฑ์ การบริหารจัดการทีมงานขาย และอื่น ๆ

เราทราบดีว่าแต่ละคนมีจริต มีวิธีการเรียนรู้ที่แตกต่างกัน
  • Visual learner จะรู้สึกดีมากหากได้เรียนรู้โดยการใช้ “ตาดู” ซึ่งอาจเป็นภาษาเขียน ตำราวิชาการ บทความ บันทึกการประชุม แผนภูมิประกอบ จินตนาภาพในรูปแบบไดอะแกรม บุคคลในกลุ่มนี้ชอบดูวิดีโอ ใช้ Flipchart หรือการนำเสนอภาพแบบ Presentation
  • Auditory learner จะรู้สึกดีมากหากได้เรียนรู้โดยการใช้ “หูฟัง” บุคคลในกลุ่มนี้ชอบปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นด้วยการพูดคุย อภิปรายกลุ่ม ฟังบรรยาย ฟังคำสั่งหรือคำแนะนำ ใช้เทปบันทึกเสียง หรือโทรศัพท์
  • Kinesthetic learner จะรู้สึกดีมากหากได้เรียนรู้ด้วยการ “เคลื่อนไหวของร่างกาย” ชอบการเรียนรู้จากประสบการณ์จริง ซึ่งก็ครอบคลุมไปถึงการยืน การเดินในระหว่างการอภิปรายหรือการประชุม การได้จับโน่น แตะนี่ การใช้อวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายในการสื่อความหมาย บุคคลกลุ่มนี้ชอบเรียนผิดเรียนถูก แต่ขอให้ได้ทำอะไรบางอย่างตามสถานการณ์นั้น ๆ เช่น การแสดงบทบาทสมมุติ
เรานำความรู้ ความเข้าใจทั้งหลายเหล่านี้ ออกแบบเป็นหลักสูตร “อบรมพัฒนา” ที่เข้มข้น โดยมุ่งเน้นการปฏิสัมพันธ์ผ่านการอภิปรายกลุ่ม (Group Discussion) ฝึกการแก้ปัญหาด้วยกรณีศึกษา (Case Study) ฝึกทักษะด้วยการแสดงบทบาทสมมุติ (Role-play) สลับด้วยการบรรยาย (Lecture) เนื้อหาของหลักสูตรซึ่งได้ออกแบบให้เป็นขั้นเป็นตอน (Step by step approach) เพื่อให้ง่ายต่อความเข้าใจ โดยผ่านการนำเสนอภาพแบบ Presentation นอกจากนั้น ก็ยังจะได้สร้างความสดชื่น มีชีวิตชีวาด้วย เกม ที่เข้ากับเนื้อหาการเรียนรู้ตามสมควร

การที่เราได้ “ทุ่มเทกายใจ วิจัยพัฒนา” ก็เพราะต้องการเสริมจุดแข็งให้เป็น “ข้อได้เปรียบ (Advantages)” ตัวอย่างเช่น การ ออกแบบพิเศษเฉพาะไม่ว่าจะเป็นประเด็นในการอภิปรายกลุ่ม เรื่องราวในกรณีศึกษา หรือทักษะที่ต้องการฝึกฝนในบทบาทสมมุติ ก็จะเป็นการเขียน หรือออกแบบขึ้นมาใหม่ตามปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในองค์กรนั้น ๆ ทั้งนี้ก็เพื่อที่จะ “นำไปใช้ได้ในชีวิตจริง” หลังจากการอบรมพัฒนา ที่เรียกว่า “ปฏิบัติการ” เสริมความสำเร็จ – Flawless Execution of Solutions

นอกเหนือจากหลักสูตรที่จะยกระดับขีดความสามารถขององค์กร เสริมสร้างศักยภาพส่วนบุคคลแล้ว สิ่งที่เราให้ความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน และถือเป็นข้อได้เปรียบอีกประการหนึ่งก็คือ การเสริมแรงกระตุ้น เร่งเร้าให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ปรับเปลี่ยนให้แตกต่างไปจากเดิม ปรับเปลี่ยนไปในทิศทางที่ดีขึ้น ปรับเปลี่ยนให้สำเร็จเพียงแค่เรื่องเดียว และยังสนับสนุนส่งเสริมให้เกิดวัฒนธรรมการส่งมอบผลงานชั้นเลิศ โดยผ่านจิตสำนึกของภาวะผู้นำ

เราเชื่อว่าหลักสูตรที่ “ออกแบบพิเศษเฉพาะ” จะ “นำไปใช้ได้ในชีวิตจริง” เราเชื่อว่า “คุณภาพ” เกิดจากความพิถีพิถัน และทำงานในรายละเอียด เราจะทำการตรวจสอบ ติดตาม ประเมินผลการสัมมนาว่าบรรลุวัตถุประสงค์ และมีประสิทธิผล เพื่อจะได้นำไปปรับปรุงพัฒนารูปแบบ เนื้อหาในอนาคต เราเชื่อว่าการ “ทุ่มเทกายใจ วิจัยพัฒนา” อย่างต่อเนื่องจริงจัง จะทำให้เราส่งมอบผลงานให้กับลูกค้าของเราแบบ “เกินความคาดหมาย” และเราจะได้รับผลสะท้อนในทางบวกอย่างยั่งยืน ด้วยการซื้อเพิ่ม ซื้อซ้ำ และบอกต่อ

สรรพัชญ์ เลี้ยววาริณ
1 กุมภาพันธ์ 2553

คิดได้ ทำเป็น

การเปลี่ยนแปลงจากปัจจัยต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในแวดวงธุรกิจ ทำให้องค์กรนั้น ๆ ได้ผลลัพธ์ที่แตกต่างกัน บางองค์กรประสบความสำเร็จ สร้างยอดขายได้ มีส่วนแบ่งการตลาดอย่างท่วมท้น ได้กำไรดี ผู้บริหารและพนักงานพบกับความสุข ยินดีปรีดา โลกใบนี้ช่างเป็นอะไร ๆ ที่ดูดีไปหมด บางองค์กรประสบความล้มเหลว ทำอะไร ๆ ก็ดูติดขัด ไม่ลื่นไหล ทุกคนในทีมรู้สึกหดหู่ห่อเหี่ยว เสียขวัญหมดกำลังใจ เพราะผลประกอบการไม่เป็นไปตามความคาดหวัง

ผู้บริหาร หรือผู้ประกอบการมืออาชีพที่มีความรู้ และประสบการณ์ ก็จะนำเอาผลประกอบการทั้งที่ดี หรือไม่ดีไปศึกษาทบทวน เจาะลึกแบบเข้าถึงแก่น ทำความเข้าใจอย่างถ่องแท้โดยการเชื่อมโยงสิ่งที่ทำหรือไม่ทำในอดีต ผลที่ได้หรือไม่ได้ในปัจจุบัน และเป้าหมายที่ต้องการในอนาคต วิเคราะห์ทั้งเขา – คู่แข่ง และเรา ค้นหาสาเหตุของปัญหานั้น ๆ และคิดหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นเหตุเป็นผลกัน

Winner – ผู้มีชัย หรือผู้ชนะในสมรภูมิส่วนใหญ่ก็จะ “รู้เท่าทัน” ต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป หรือกำลังจะเปลี่ยนแปลง บุคคล หรือองค์กรเหล่านี้ นอกจากจะ “คิดขาด” แล้ว ยังเป็นคน “คิดข้ามช็อต” อีกด้วย ผู้ชนะส่วนใหญ่ จะมีภาวะผู้นำสูง คือรู้จัก “ลงมือทำ” เข้าข่าย “คิดได้ ทำเป็น” โดยสรุปก็คือ สามารถคิดสร้างสรรค์กลยุทธ์ที่จำเป็น แปลงยุทธศาสตร์ให้เป็นยุทธวิธี และ “ทำ” ให้สำเร็จได้อย่างเป็นรูปธรรม

บุคคล หรือองค์กรที่ไม่รู้จักสร้างดุลยภาพ ก็จะให้ความสำคัญกับการวางแผน ผู้บริหาร หรือผู้ประกอบการเหล่านั้นจะมีความสุขมากกับการที่ได้อภิปรายแบบเชือดเฉือนกันด้วยคารมและความคิดในห้องประชุม สนุกไปกับการได้มาซึ่งยุทธศาสตร์ โดยไม่ได้สนใจชั้นเชิงที่เป็นยุทธวิธีเพื่อที่จะนำไปปฏิบัติ เข้าข่าย “ได้ยุทธศาสตร์ แต่ไร้ยุทธวิธี” หรือ “คิดได้ ทำไม่เป็น” อนาคตของบุคคล หรือองค์กรประเภทนี้ก็จะเป็นได้เพียงแค่ Challenger – ผู้ท้าชิง

ผู้บริหาร หรือผู้ประกอบการมากมายที่ไม่มีเวลา (แม้กระทั่งจะรับประทานอาหาร) วันหนึ่ง ๆ ต้องใช้เวลาไปกับการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า บ้างก็ยุ่งจริง ๆ ด้วยเหตุผลที่พอจะฟังขึ้น บ้างก็ยุ่งมากเพราะบริหารเวลาไม่เป็น หรือไม่ยอมที่จะแบ่งปันงาน กระจายอำนาจ สภาวะที่ยุ่ง ๆ แบบลุยไปข้างหน้าแต่เพียงอย่างเดียว จนไม่มีเวลาคิด หรือ “ไม่ได้คิด” ในบางโอกาสมีเวลาคิด แต่กลับ “คิดไม่ออก” เข้าข่าย “คิดไม่ได้ ทำเป็น” อนาคตของบุคคล หรือองค์กรประเภทนี้ก็จะเป็นได้เพียงแค่ Defender – ผู้ป้องกันตัว เท่านั้น

Loser – ผู้ปราชัย หรือผู้พ่ายแพ้ บุคคล หรือองค์กรที่ไม่รู้เท่าทัน หรือไม่รู้ในสิ่งที่ควรรู้ และไม่ทำในสิ่งที่ควรทำ อ้างว่าไม่มีเวลาคิดวิเคราะห์ อ้างว่าทำไปก็สู้คู่แข่งไม่ได้ อ้างไปได้ต่าง ๆ นานา ไม่มีความตั้งใจ แถมยังขี้เกียจแบบถึง (ตัวเลข) ก็ช่าง ไม่ถึง (ตัวเลข) ก็ช่าง ไม่ได้ทำงานอย่างจริงจัง เข้าข่าย “คิดไม่ได้ ทำไม่เป็น” แน่นอนว่าบุคคล หรือองค์กรประเภทนี้จะขับเคลื่อนไปภายใต้สภาวะที่กดดัน เหนื่อยไม่รู้จบ และสำเร็จได้ยาก

นั่งสงบใจนิ่ง ๆ สักพัก... ใช้เวลาสักครู่ไตร่ตรองดูตัวเอง หรือนึกภาพพิจารณาไปที่องค์กรของท่าน... แล้วหาคำตอบให้กับตนเองว่า ส่วนตัวท่านเอง หรือองค์กรของท่านในขณะนี้อยู่ตรงส่วนไหนระหว่าง “คิดก็ได้ ทำก็เป็น” หรือ “คิดได้ แต่ทำไม่เป็น” หรือ “คิดไม่ได้ แต่ทำเป็น” หรือ “คิดก็ไม่ได้ ทำก็ไม่เป็น”

ที่ Bizz Backup เราถ่ายทอดแนวความคิดของเราออกมาให้เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ง่าย ๆ แบ่งเป็นงานบริการ 3 เรื่องหลักที่เรามุ่งเน้น นั่นก็คือ
  1.       ปรึกษาธุรกิจ (Management Consulting): เรามุ่งมั่น ตั้งใจที่จะมีส่วนช่วยลูกค้าของเราให้ “คิดได้” ด้วยการดึงศักยภาพที่อยู่ภายในให้ปรากฎ หรือได้รับการพัฒนาเชิงกลยุทธ์ ช่วยพัฒนาธุรกิจตั้งแต่การกำหนดวิสัยทัศน์ พันธกิจ เป้าหมายทางธุรกิจ ยุทธศาสตร์ในการก้าวเดิน สามารถคิดค้นรูปแบบวิธีการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่นำไป ปฏิบัติการเสริมความสำเร็จได้จริง ตลอดจนถึงการตรวจสอบ ติดตาม และประเมินผลการดำเนินธุรกิจ เพื่อสร้างยอดขายให้สูงขึ้น และเสริมอัตราการเจริญเติบโตของธุรกิจ
  2.       แนวทางแก้ปัญหาธุรกิจ (Commercial Advisory): เรามุ่งมั่น ตั้งใจที่จะให้คำปรึกษาแนะนำเพื่อช่วยให้ลูกค้าของเรา “ทำเป็น” และทำได้อย่างต่อเนื่องจริงจัง เรามีความเชี่ยวชาญในการบริหารจัดการงานขาย การออกแบบผังองค์กร การกำหนดอัตรากำลังคน การบริหารจัดการช่องทางการจัดจำหน่าย ความสัมพันธ์ระหว่างระยะทาง เวลาเดินทาง กับการบริหารจัดการเขตขาย การเสริมแรงจูงใจด้วยอินเซ็นทีฟ หรือสวัสดิการอื่น ๆ บริหารจัดการลูกค้า ยุทธศาสตร์ในการดำเนินธุรกิจ การวางแผนงานขาย บริหารจัดการข้อมูลสารสนเทศเพื่อส่งเสริมสนับสนุนงานขาย กระบวนการขั้นตอนที่มีประสิทธิภาพ ยุทธศาสตร์ในการเจรจาต่อรอง และอื่น ๆ
  3.       อบรมพัฒนา (Talent Development): เรามุ่งมั่น ตั้งใจที่จะยกระดับความรู้ เพิ่มขีดความสามารถขององค์กร และ เสริมสร้างศักยภาพส่วนบุคคล โดยมุ่งเน้นการปฏิสัมพันธ์ผ่านการอภิปรายกลุ่ม (Group Discussion) ฝึกการแก้ปัญหาด้วยกรณีศึกษา (Case Study) และฝึกทักษะด้วยการแสดงบทบาทสมมุติ (Role-play) เป็นการเสริมแรงกระตุ้น เร่งเร้าให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และสนับสนุนส่งเสริมให้เกิดวัฒนธรรมการส่งมอบผลงานชั้นเลิศ โดยผ่านจิตสำนึกของภาวะผู้นำ ทั้งนี้ก็เพื่อ ต่อยอด ให้ธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืน

บริการหลักทั้ง 3 เรื่องนี้ ได้รับการร้อยเรียงโดยมีเป้าประสงค์เดียว คือต้องการให้เป็น “ปฏิบัติการเสริมความสำเร็จ – Flawless Execution of Solutions โดยแท้จริง เพราะเราต้องการที่จะส่งมอบชิ้นงานที่จับต้องได้ นำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดีขึ้น ไม่ใช่ส่งมอบแต่เพียงความคิดหรือการนำเสนอผลงาน และลูกค้าของเราจะได้รับคุณประโยชน์ที่คุ้มค่ากับเงินที่ลงทุนไป

เราจะรู้สึกยินดีและเป็นสุขใจเมื่อได้รับรู้ว่า ผลประกอบการของลูกค้าของเราประสบความสำเร็จ เป็นไปตามความคาดหวัง ขายดีแบบเทน้ำเทท่า มีส่วนแบ่งการตลาดสูงขึ้น ได้กำไรเกินเป้าหมาย ผู้อุปโภคหรือผู้บริโภคพึงพอใจที่ได้ใช้สินค้าหรือบริการที่ดีมีคุณภาพ พนักงานทุกระดับมีความสุข มีความเชื่อมั่น ผู้ถือหุ้นก็ยินดีที่จะลงทุนขยายกิจการเพิ่มเติม นำมาซึ่งความมั่งคั่งให้กับสังคมโดยรวม ถือเป็น “กำลังเสริม” สร้างคุณค่าอย่างสูงสุดตามเจตนารมย์ของเรา

สรรพัชญ์ เลี้ยววาริณ
26 ธันวาคม 2552

จุดเปลี่ยน

ท่านคงเห็นด้วยกับความจริงแท้ที่ว่า “ใด ๆ ในโลกล้วนอนิจจัง” กล่าวคือ ไม่มีอะไรที่เที่ยงแท้แน่นอน หากเราเฝ้าสังเกตุดู ไม่ว่าอะไรต่อมิอะไรในโลกใบนี้ ก็จะพบกับสิ่งที่แน่นอนที่สุดก็คือ “สิ่งที่ไม่แน่นอน” ทุกสิ่งทุกอย่าง “เปลี่ยนแปลงไป... เปลี่ยนแปลงไป...”

นักธรรมชาติวิทยาชาวอังกฤษ ชาลส์ โรเบิร์ต ดาร์วิน (1809-1882) กล่าวเอาไว้ว่า “ไม่ใช่ว่าสายพันธุ์ที่แข็งแรงที่สุดจะมีชีวิตอยู่รอดในโลกนี้ได้ ไม่แม้กระทั่งสายพันธุ์ที่ฉลาดที่สุด แต่มันเป็นสายพันธุ์ที่สามารถตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงได้มากที่สุดต่างหาก”

บุคคล หรือองค์กรธุรกิจ ภายใต้การแข่งขันที่เข้มข้นรุนแรงในปัจจุบัน จึงมีความจำเป็นที่จะต้องเข้าใจถึงสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น เพื่อต่อสู้กับความเปลี่ยนแปลง ฟันฝ่าอุปสรรคต่าง ๆ ทั้งนี้ก็เพื่อที่จะมีชีวิต หรือนำองค์กรนั้น ๆ อยู่รอดในสมรภูมิ และสามารถก้าวไปสู่การเจริญเติบโต สร้างความมั่งคั่งอย่างยั่งยืนได้

โดยธรรมชาติแล้ว ผู้คนส่วนใหญ่ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง บางคนกลัวการเปลี่ยนแปลง บางคนไม่อยากย้ายโรงเรียนเพราะกลัวไม่มีเพื่อน บางคนไม่อยากย้ายที่ทำงานเพราะกลัวว่าจะปรับตัวให้เข้ากับนายใหม่ไม่ได้ บางคนไม่อยากย้ายบ้านเพราะกลัวที่จะต้องปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมใหม่ ๆ น้อยคนที่จะได้รับการฝึกฝนให้เข้าใจ และยอมรับกับการเปลี่ยนแปลง

หากเรามองโลกด้วยใจที่เป็นธรรม ก็จะพบว่าเราจะได้อะไรใหม่ ๆ เสมอในทุก ๆ ครั้งของการเปลี่ยนแปลง คนที่กล้าย้ายโรงเรียนก็ได้พบกับเพื่อนใหม่ ๆ มากหน้าหลายตา คนที่กล้าเปลี่ยนงานก็จะได้เรียนรู้รูปแบบ และกระบวนการใหม่ ๆ ในที่ทำงาน คนที่กล้าย้ายบ้านก็จะได้เรียนรู้ถึงการปรับตัว ได้พบปะรู้จักกับครอบครัวอื่น ๆ แท้ที่จริง การเปลี่ยนแปลงก็เป็นอะไร ๆ ที่ธรรมดา ๆ ไม่มีอะไรพิเศษ

การตัดสินใจ “เปลี่ยนแปลง” จากพนักงานประจำ มาเป็น “ผู้ประกอบการ (Entrepreneur)” ถือได้ว่าเป็น “จุดเปลี่ยน (Turning Point)” ที่สำคัญอีกครั้งหนึ่งในชีวิต เพราะเป็นก้าวย่างใหม่ นอกจากจะไม่เหมือนเดิมแล้ว ยังท้าทายกว่าเดิม และแน่นอนที่สุด ต้องทำงานหนักมากกว่าเดิม แถมยังมีความเสี่ยง ถ้าอย่างนั้น “ทำไมจึงกล้าเปลี่ยนแปลง...”

ก็แล้ว “ทำไมจึงต้องกลัวการเปลี่ยนแปลง...” เพราะจากการที่ได้พบปะพูดคุยกับผู้บริหาร และผู้ประกอบการ รวมไปถึงประสบการณ์ส่วนตัวจากการทำงานในองค์กรเอกชนมานาน ความเห็นของคนส่วนใหญ่บ่งชี้ไปในทิศทางเดียวกันว่า ระบบการศึกษาของประเทศเรา ไม่สามารถตอบสนองตลาดแรงงานได้ – จบการศึกษาสูง เรียนมาเยอะ รู้มามาก แต่ “ทำไม่เป็น”

การแข่งขันในแวดวงธุรกิจสูงมากขึ้นทุกวัน องค์กรส่วนหนึ่งจำเป็นต้องบริหารจัดการต้นทุนให้สามารถแข่งขันได้ การจำกัดค่าใช้จ่ายขององค์กรโดยไม่เพิ่มอัตรากำลังคนเป็นวิธีง่าย ๆ ที่สามารถดำเนินการได้ทันที ผู้บริหารจึงให้ความสำคัญกับการจ้างพนักงานในตำแหน่งที่ก่อให้เกิดรายได้เป็นลำดับต้น ๆ นั่นหมายความว่า การจัดสรรบุคลากรมาทำงานด้านการฝึกอบรม มีความจำเป็นน้อยลง และบริการเช่นนี้ ก็สามารถจัดซื้อจัดหาได้ด้วยเงินลงทุนที่ต่ำกว่าจากมืออาชีพภายนอก

องค์กรที่มีขนาดใหญ่ มีความคุ้มค่าต่อการลงทุน ก็จะมีหน่วยงานพัฒนาบุคลากร และให้บริการฝึกอบรมพัฒนากับพนักงานในองค์กรด้วยตนเอง แต่สิ่งที่ท้าทายสำหรับองค์กรประเภทนี้ก็คือ การสร้างผู้ฝึกอบรมให้มีความรู้จริง หรือมีความเชี่ยวชาญในทุก ๆ เรื่องในเชิงลึก เพื่อเอาใจพนักงานในแต่ละแผนกนั้น ทำได้ค่อนข้างยาก อีกสิ่งหนึ่งที่ถือเป็นความท้าทาย ก็คือ ความใกล้ชิดของพนักงานระดับเดียวกัน ในแผนกต่าง ๆ มีส่วนทำให้เกิดกระแสการ “ต่อต้านคนใน” กล่าวคือ พอรู้ว่าผู้ฝึกอบรมเป็นพนักงานประจำภายในองค์กรนั้น ๆ ผู้คนส่วนหนึ่งก็จะมีอาการ “ไม่ยอมรับคนใน” ทั้ง ๆ ที่หลายองค์กรนั้น มีคนในที่มีคุณภาพ

สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม สำรวจเมื่อปี พ.ศ. 2549 พบว่า ประเทศไทยมีวิสาหกิจขนาดใหญ่ (Large Enterprise) 4,292 ราย วิสาหกิจขนาดกลาง (Medium Enterprise) 9,791 ราย วิสาหกิจขนาดย่อม (Small Enterprise) 2,264,734 ราย และวิสาหกิจที่ไม่สามารถระบุขนาดได้ 8,240 ราย แน่นอนที่สุด ส่วนหนึ่งของวิสาหกิจเหล่านี้ต้องการใช้บริการ “ปรึกษาธุรกิจ แนวทางแก้ปัญหาธุรกิจ และอบรมพัฒนา” จากมืออาชีพ

จากการที่ได้คิดวิเคราะห์ พบเห็นแนวโน้มใหม่ ๆ และมีเหตุผลดี ๆ มากมายจนต้อง “เลือกที่จะเปลี่ยนแปลง...”

แต่ที่สำคัญที่สุดของ “จุดเปลี่ยน” ในครั้งนี้ก็คือการ “เติมเต็ม” ให้กับชีวิต เป็นการทำในสิ่งที่ชอบมากกว่า เป็นความใฝ่ฝันที่สั่งสมมานานจนเกิดแรงบันดาลใจ เป็นความตั้งใจที่จะแบ่งปันประสบการณ์ตรงจากการทำงานจริง และยกระดับคุณภาพของบุคลากรภายในประเทศให้มีศักยภาพ มีความรู้ความสามารถ มีกรอบความคิด และมุมมองต่าง ๆ ที่เป็นสากลเพื่อสามารถแข่งขันกับนานาอารยประเทศได้

ดูเหมือนว่า “จุดเปลี่ยน” ในครั้งนี้ไม่มีความเสี่ยง หรือมีความเสี่ยงน้อย แต่ก็นั่นแหละ “ใด ๆ ในโลกล้วนอนิจจัง” ไม่มีใครสามารถคาดเดาอนาคตได้ แต่โดยส่วนตัวแล้ว ผมเชื่อในความตั้งใจจริง ความสำเร็จต่าง ๆ ที่ผ่านไปในชีวิตล้วนแล้วมาจากการกระทำที่เรียกว่า “ยืนหยัด ยืนยัน และยืนกราน เพื่อสร้างความสำเร็จ” – “บิซ แบ๊กอัพ” ก็จะเป็น “จุดเปลี่ยน” อีกจุดหนึ่ง ที่ไม่แตกต่างจากความเชื่อนี้

สรรพัชญ์ เลี้ยววาริณ
20 กันยายน 2552