วันอังคารที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

อวสานเซลล์แมน – จุติอวตาร

ในแต่ละวงการก็จะประกอบไปด้วยคนดี คนที่ยังดีไม่พอ กับคนที่มีดีน้อย คละเคล้ากันไปหลากหลายประเภท ในแวดวงของการตลาด การขาย ก็ไม่แตกต่างกัน พนักงานบางคนขยันขันแข็ง ฝึกปรือวิทยายุทธ์จนสร้างโอกาสให้กับตนเอง ครอบครัว และสังคมได้มากมาย เช่น การเลื่อนตำแหน่ง ปรับขึ้นเงินเดือน รับโบนัสพิเศษ ฯลฯ

สาเหตุที่สำคัญประการหนึ่งของ “อวสานเซลล์แมน” ก็คือ การใช้จ่ายเงินเกินตัว ส่งผลให้พนักงานขายไม่เป็นมืออาชีพอีกต่อไป และถือเป็นฉากสุดท้ายของพนักงานผู้นั้นเลยทีเดียว

ลักษณะงานอาชีพที่สำคัญของพนักงานขายก็คือ “การเดินทาง” หลายคนต้องเดินทางรอนแรมจากบ้าน จากครอบครัว “ไปไกล” และ “ไปนาน” ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับเขตขายที่ตนเองรับผิดชอบ บางคนดูแลเขตเหนือสุด หรือใต้สุดของประเทศ ครอบคลุมหลายจังหวัด หลายอำเภอ หรือหลายตำบล ก็อาจใช้เวลาทำงานในภาคสนามยาวนานร่วมเดือน

บางคนที่ไม่ชอบการเดินทาง หรือไม่คุ้นเคยกับการเดินทาง ก็อาจป่วยแบบ Home Sick ไปเลยก็ได้ แต่หลายคนก็สนุกไปกับการเดินทาง มีความสุขกับการพบปะพูดคุยกับผู้คนประเภทต่าง ๆ แก้ไขปัญหาที่ไม่ซ้ำกันเลยในแต่ละวัน สร้างโอกาสการเรียนรู้ในหลายแง่มุมของชีวิต

พนักงานขายที่ “เอาถ่าน” ก็จะใช้เวลาตอนเย็นหรือตอนกลางคืนหลังเลิกงาน ทำรายงานการขายประจำวัน (Daily Activity Sales Report) บันทึกสถานะสต๊อกสินค้าและการสั่งซื้อในระเบียนประวัติ (Dealer Record Card หรือ Call Card) จัดเก็บเงินสดหรือเช็คที่ได้รับมาเพื่อเตรียมเข้าธนาคารในวันรุ่งขึ้น วิเคราะห์ข้อมูล และจัดเตรียมข้อมูลที่จำเป็นต่อการเข้าเยี่ยมในวันต่อ ๆ ไป

ส่วนพนักงานขายที่ “ไม่เอาทั้งแก๊ส และถ่าน” ก็จะหลงระเริงไปกับ “สุรา นารี พาชี กีฬาบัตร” ผู้คนในกลุ่มนี้มักจะมีข้ออ้างที่น่าฟังเสมอ เช่น “โดนลูกค้าดุมาทั้งวันแล้ว ขอพักซะบ้าง...”, “เดินทางคนเดียว ทำงานคนเดียว เหงา... อยากมีเพื่อน”, อยู่ต่างจังหวัดเงียบ ๆ เซ็ง ไม่มีอะไรทำ หาคู่นอนแก้เซ็งดีกว่า”, “ผมเป็นคนตลกเฮฮา เพื่อน ๆ เลยติดผม เกาะกันเป็นกลุ่ม ไปไหนมาไหน ก็ขอไปด้วย”, ฯลฯ เหตุผลดี ๆ ทั้งหมดทั้งหลายเหล่านี้นำมาซึ่งกิจกรรมต่าง ๆ ตามแต่จริตของแต่ละคน หรือแต่ละกลุ่ม ในแต่ละคืนไม่ซ้ำกัน

“ผมมีความสุขกับการดื่ม จะเป็นเบียร์หรือเหล้า ขอให้เมาเป็นใช้ได้...”, “จะมีกับแกล้ม หรือไม่มีผมก็ไม่เกี่ยง... พบเพื่อนที่รู้ใจ ไม่เมามาย ไม่เลิกรา...”, กลุ่มคนที่ชื่นชอบ “สุรา” นี้ ก็อาจแบ่งได้ตามระดับดีกรี บ้างก็สามารถออกไปทำงานได้ตามปกติในเช้าวันรุ่งขึ้น บ้างก็ตอนนอนตื่นสาย บ้างก็เมาค้างจนเสียงานไปอีกวัน

กลุ่มคนที่ชื่นชอบ “นารี” อาจเป็นคนที่อยู่ในกลุ่มเดียวกับคนที่ร่ำสุรา หรืออาจเป็นคนละกลุ่มก็ได้ ขึ้นอยู่กับระดับความต้องการที่จะปลดปล่อย บ้างก็รู้สึกดีเพียงแค่การฟังเพลงซึ้ง ๆ พร้อม ๆ กับการลุ้นนักร้องในคาเฟ่ บ้างก็เรียกหาสาวพาร์ตเนอร์เอวบาง ร่วมวงชงและดวด บ้างก็ขอสนุกกับสาวอะโกโก้ใจถึง ร่วมลีลาท่าเต้นฉวัดเฉวียน บ้างก็เลือกที่จะดื่มด่ำบรรยากาศในสถานลีลาศหรูกลางเมือง หลายคนในกลุ่มนี้ก็ลุ่มหลงมัวเมาขนาดให้ทิปมากกว่าเงินที่หามาได้ต่อวัน

กลุ่มคนที่อยู่ในเมืองหลวง อาจมีโอกาส “แทงม้า” แบบสด ๆ ริมขอบสนามในช่วงวันหยุด ส่วนพนักงานขายภูธรที่ไม่มีสนามม้า ก็สามารถสนุกกับการเขย่า “ตู้พาชี” (คล้ายกับ slot machine) ซึ่งหาได้โดยไม่ยาก แต่หากไม่ชอบบรรยากาศที่อุดอู้ในที่ลับ ก็สามารถสนุกกับ “กีฬาบัตร” เช่น รัมมี่ ไฮโล ป๊อกเด้ง ฯลฯ ได้ตามอัธยาศัย เพราะสถานที่พักส่วนใหญ่ก็รโหฐานเพียงพอกับการรวมแก๊ง

ในยุคกลางเก่า กลางใหม่ ก็มีสิ่งล่อใจเพิ่มเติม เช่น สนุกเกอร์ บิลเลียต โบว์ลิ่ง ฯลฯ และในยุคสมัยใหม่นี้ มีกับดักล่อเรามากยิ่งกว่าเดิม ทั้งผับ ทั้งคาราโอเกะ เน็ตคาเฟ่ หรือสถานบันเทิงในรูปแบบใหม่ ๆ มากมาย หากไม่รู้เท่าทัน หลงระเริงไปกับ “สิ่งปรุงแต่ง” หรือเรื่องราวที่เกิดจาก รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสทั้งหลาย ก็จะยิ่งเป็นเหตุให้ใช้จ่ายเงินเกินกว่าที่จะหามาได้

หลายคน “รอด” จากความลุ่มหลงมัวเมามาได้ เพราะมีเป้าหมายในชีวิต มีแรงบันดาลใจ มีความทะเยอทะยาน มีความมุ่งมั่นตั้งใจ หลายคนได้เลื่อนตำแหน่ง เป็นใหญ่เป็นโตในองค์กรต่าง ๆ แม้ว่าบางคนอาจมีข้อจำกัดบางประการ แต่ก็สามารถสร้างความประทับใจให้กับลูกค้า จนกระทั่งเป็น “ขาประจำ” ในขณะที่ “มิจฉาทิฎฐิ” หลายคนต้องถูกจองจำในคุกตะราง เพราะมีคดีติดตัว เนื่องจากสภาพหนี้ที่ตนเองก่อขึ้นมาจากอบายมุขทั้งหลาย

พนักงานขายหน่วยรถเงินสด ก็จะ “หยิบยืมสต๊อคสินค้าในรถ” ขายได้เป็นเงินสด และนำเงินไปใช้ส่วนตัว
พนักงานขายเครดิต ก็จะร้องขอให้ห้างฯ ร้านฯ ชำระค่าสินค้าตามใบแจ้งหนี้เป็นเงินสด หรือให้เขียนเช็คเงินสด หมุนเงินไปใช้สบายอุรา ไม่นานก็จะเป็น “ดินพอกหางหมู” หากเป็นมือใหม่ก็จะถูกจับได้โดยผู้บังคับบัญชา แต่ถ้าเป็นมืออาชีพ ก็จะทำได้อย่างแนบเนียน ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างมาก เช่น การให้เปอร์เซ็นต์ส่วนลดพิเศษเมื่อจ่ายเงินสด และทำเช่นนี้กับลูกค้าทั้งจังหวัด หรือเฉพาะกับใบแจ้งหนี้ที่มียอดเงินสูง ๆ แล้วก็เชิดเงินหนีไป

รายที่จับไม่ได้ ก็ต้องหนีหัวซุกหัวซุน ไม่เป็นผู้เป็นคน ต้องอยู่แบบหลบ ๆ ซ่อน ๆ จนกว่าคดีจะขาดอายุความ รายที่ถูกจับได้ ก็ต้องติดคุก ติดตะรางตามกรรมที่ก่อเอาไว้ พนักงานหลายคนต้องถูกจำคุกยาวนาน เพราะการตัดสินคดีแบบนี้ แม้ว่าจะมีโทษไม่มากก็จริง แต่เมื่อรวม ๆ กันหลาย ๆ กระทง ก็อาจทำให้ต้องถูกจองจำไปจนชั่วชีวิตเลยก็ได้

เรื่องราวต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นนี้ ก่อให้เกิดผลกระทบในวงกว้าง ทั้งที่สามารถตีเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจ และผลกระทบทางจิตใจที่ประเมินค่ามิได้ นอกจากที่ตนเองจะต้องถูกจองจำ ครอบครัวก็อาจขาดผู้นำ และได้รับผลกระทบ เงินลงทุนของนายจ้างในกระบวนการสรรหาบุคลากร (Recruitment) ฝึกอบรมพัฒนา (Training and Development) และกระบวนการรักษาคน (Retention) ก็จะสูญเปล่า ผลกระทบในทางสังคม ตำรวจ อัยการ และศาลต้องทำคดีเพิ่มเติม ภาพลักษณ์ของพนักงานขายถูกทำลายเป็นที่เสื่อมเสีย ผู้คนไม่ไว้ใจคนที่ทำงานในอาชีพนี้ ทำให้พนักงานขายรุ่นใหม่ ๆ ไม่ค่อยได้รับความสะดวก และยากต่อการเข้าพบ

“อวสานเซลล์แมน” นี้จะไม่เกิดขึ้นเลย หากเราเข้าใจ และตั้งมั่นอยู่ใน “สัมมาทิฏฐิ” – คือความรู้ชอบ ความคิดชอบ ความเห็นชอบ เป็นความเห็นตรง ความถูกต้องตามทำนองคลองธรรม เห็นหรือเข้าใจสภาพความเป็นจริง เช่น เห็นว่าทำดี ได้ดี ทำชั่ว ได้ชั่ว – โดยไม่มีคำว่า “รู้อย่างนี้ ไม่ทำดีกว่า”

ตัวอย่าง “ดินพอกหางหมู” จนทำให้เกิด “วงจรอุบาทว์” นี้ จะไม่เกิดขึ้นเลย หากเราเข้าใจ และตั้งมั่นอยู่ใน “หิริ โอตตัปปะ”

“หิริ” คือความละอายใจต่อบาป เป็นความละอายที่เกิดขึ้นในใจตนเอง เป็นความไม่สบายใจ รู้สึกรังเกียจ รู้สึกกินแหนงแคลงใจ รู้สึกเศร้าหมอง หรือรู้สึกกระดากใจหากคิด หรือจะทำในสิ่งที่เป็นบาป หรือความไม่ดีงามทั้งหลาย ความละอายใจนี่แหละเป็นต้นเหตุให้ทำแต่ความดี

“โอตตัปปะ” คือความเกรงกลัวต่อผลของบาป เป็นความรู้สึกกลัว กลัวความชั่ว กลัวคนอื่นเขาจะรู้จะเห็น กลัวจะอับอาบขายหน้า กลัวว่าผลของการกระทำนั้นจะก่อให้เกิดความทุกข์มหันต์ จึงไม่ยอมทำบาป

เลือกเอาเองก็แล้วกันว่าจะมุ่งหน้าเดินไปทางไหน ระหว่าง “อวสานเซลล์แมน” กับ “จุติอวตาร”

สรรพัชญ์ เลี้ยววาริณ
21 พฤศจิกายน 2553

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น