วันอังคารที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

จุดเปลี่ยน

ท่านคงเห็นด้วยกับความจริงแท้ที่ว่า “ใด ๆ ในโลกล้วนอนิจจัง” กล่าวคือ ไม่มีอะไรที่เที่ยงแท้แน่นอน หากเราเฝ้าสังเกตุดู ไม่ว่าอะไรต่อมิอะไรในโลกใบนี้ ก็จะพบกับสิ่งที่แน่นอนที่สุดก็คือ “สิ่งที่ไม่แน่นอน” ทุกสิ่งทุกอย่าง “เปลี่ยนแปลงไป... เปลี่ยนแปลงไป...”

นักธรรมชาติวิทยาชาวอังกฤษ ชาลส์ โรเบิร์ต ดาร์วิน (1809-1882) กล่าวเอาไว้ว่า “ไม่ใช่ว่าสายพันธุ์ที่แข็งแรงที่สุดจะมีชีวิตอยู่รอดในโลกนี้ได้ ไม่แม้กระทั่งสายพันธุ์ที่ฉลาดที่สุด แต่มันเป็นสายพันธุ์ที่สามารถตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงได้มากที่สุดต่างหาก”

บุคคล หรือองค์กรธุรกิจ ภายใต้การแข่งขันที่เข้มข้นรุนแรงในปัจจุบัน จึงมีความจำเป็นที่จะต้องเข้าใจถึงสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น เพื่อต่อสู้กับความเปลี่ยนแปลง ฟันฝ่าอุปสรรคต่าง ๆ ทั้งนี้ก็เพื่อที่จะมีชีวิต หรือนำองค์กรนั้น ๆ อยู่รอดในสมรภูมิ และสามารถก้าวไปสู่การเจริญเติบโต สร้างความมั่งคั่งอย่างยั่งยืนได้

โดยธรรมชาติแล้ว ผู้คนส่วนใหญ่ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง บางคนกลัวการเปลี่ยนแปลง บางคนไม่อยากย้ายโรงเรียนเพราะกลัวไม่มีเพื่อน บางคนไม่อยากย้ายที่ทำงานเพราะกลัวว่าจะปรับตัวให้เข้ากับนายใหม่ไม่ได้ บางคนไม่อยากย้ายบ้านเพราะกลัวที่จะต้องปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมใหม่ ๆ น้อยคนที่จะได้รับการฝึกฝนให้เข้าใจ และยอมรับกับการเปลี่ยนแปลง

หากเรามองโลกด้วยใจที่เป็นธรรม ก็จะพบว่าเราจะได้อะไรใหม่ ๆ เสมอในทุก ๆ ครั้งของการเปลี่ยนแปลง คนที่กล้าย้ายโรงเรียนก็ได้พบกับเพื่อนใหม่ ๆ มากหน้าหลายตา คนที่กล้าเปลี่ยนงานก็จะได้เรียนรู้รูปแบบ และกระบวนการใหม่ ๆ ในที่ทำงาน คนที่กล้าย้ายบ้านก็จะได้เรียนรู้ถึงการปรับตัว ได้พบปะรู้จักกับครอบครัวอื่น ๆ แท้ที่จริง การเปลี่ยนแปลงก็เป็นอะไร ๆ ที่ธรรมดา ๆ ไม่มีอะไรพิเศษ

การตัดสินใจ “เปลี่ยนแปลง” จากพนักงานประจำ มาเป็น “ผู้ประกอบการ (Entrepreneur)” ถือได้ว่าเป็น “จุดเปลี่ยน (Turning Point)” ที่สำคัญอีกครั้งหนึ่งในชีวิต เพราะเป็นก้าวย่างใหม่ นอกจากจะไม่เหมือนเดิมแล้ว ยังท้าทายกว่าเดิม และแน่นอนที่สุด ต้องทำงานหนักมากกว่าเดิม แถมยังมีความเสี่ยง ถ้าอย่างนั้น “ทำไมจึงกล้าเปลี่ยนแปลง...”

ก็แล้ว “ทำไมจึงต้องกลัวการเปลี่ยนแปลง...” เพราะจากการที่ได้พบปะพูดคุยกับผู้บริหาร และผู้ประกอบการ รวมไปถึงประสบการณ์ส่วนตัวจากการทำงานในองค์กรเอกชนมานาน ความเห็นของคนส่วนใหญ่บ่งชี้ไปในทิศทางเดียวกันว่า ระบบการศึกษาของประเทศเรา ไม่สามารถตอบสนองตลาดแรงงานได้ – จบการศึกษาสูง เรียนมาเยอะ รู้มามาก แต่ “ทำไม่เป็น”

การแข่งขันในแวดวงธุรกิจสูงมากขึ้นทุกวัน องค์กรส่วนหนึ่งจำเป็นต้องบริหารจัดการต้นทุนให้สามารถแข่งขันได้ การจำกัดค่าใช้จ่ายขององค์กรโดยไม่เพิ่มอัตรากำลังคนเป็นวิธีง่าย ๆ ที่สามารถดำเนินการได้ทันที ผู้บริหารจึงให้ความสำคัญกับการจ้างพนักงานในตำแหน่งที่ก่อให้เกิดรายได้เป็นลำดับต้น ๆ นั่นหมายความว่า การจัดสรรบุคลากรมาทำงานด้านการฝึกอบรม มีความจำเป็นน้อยลง และบริการเช่นนี้ ก็สามารถจัดซื้อจัดหาได้ด้วยเงินลงทุนที่ต่ำกว่าจากมืออาชีพภายนอก

องค์กรที่มีขนาดใหญ่ มีความคุ้มค่าต่อการลงทุน ก็จะมีหน่วยงานพัฒนาบุคลากร และให้บริการฝึกอบรมพัฒนากับพนักงานในองค์กรด้วยตนเอง แต่สิ่งที่ท้าทายสำหรับองค์กรประเภทนี้ก็คือ การสร้างผู้ฝึกอบรมให้มีความรู้จริง หรือมีความเชี่ยวชาญในทุก ๆ เรื่องในเชิงลึก เพื่อเอาใจพนักงานในแต่ละแผนกนั้น ทำได้ค่อนข้างยาก อีกสิ่งหนึ่งที่ถือเป็นความท้าทาย ก็คือ ความใกล้ชิดของพนักงานระดับเดียวกัน ในแผนกต่าง ๆ มีส่วนทำให้เกิดกระแสการ “ต่อต้านคนใน” กล่าวคือ พอรู้ว่าผู้ฝึกอบรมเป็นพนักงานประจำภายในองค์กรนั้น ๆ ผู้คนส่วนหนึ่งก็จะมีอาการ “ไม่ยอมรับคนใน” ทั้ง ๆ ที่หลายองค์กรนั้น มีคนในที่มีคุณภาพ

สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม สำรวจเมื่อปี พ.ศ. 2549 พบว่า ประเทศไทยมีวิสาหกิจขนาดใหญ่ (Large Enterprise) 4,292 ราย วิสาหกิจขนาดกลาง (Medium Enterprise) 9,791 ราย วิสาหกิจขนาดย่อม (Small Enterprise) 2,264,734 ราย และวิสาหกิจที่ไม่สามารถระบุขนาดได้ 8,240 ราย แน่นอนที่สุด ส่วนหนึ่งของวิสาหกิจเหล่านี้ต้องการใช้บริการ “ปรึกษาธุรกิจ แนวทางแก้ปัญหาธุรกิจ และอบรมพัฒนา” จากมืออาชีพ

จากการที่ได้คิดวิเคราะห์ พบเห็นแนวโน้มใหม่ ๆ และมีเหตุผลดี ๆ มากมายจนต้อง “เลือกที่จะเปลี่ยนแปลง...”

แต่ที่สำคัญที่สุดของ “จุดเปลี่ยน” ในครั้งนี้ก็คือการ “เติมเต็ม” ให้กับชีวิต เป็นการทำในสิ่งที่ชอบมากกว่า เป็นความใฝ่ฝันที่สั่งสมมานานจนเกิดแรงบันดาลใจ เป็นความตั้งใจที่จะแบ่งปันประสบการณ์ตรงจากการทำงานจริง และยกระดับคุณภาพของบุคลากรภายในประเทศให้มีศักยภาพ มีความรู้ความสามารถ มีกรอบความคิด และมุมมองต่าง ๆ ที่เป็นสากลเพื่อสามารถแข่งขันกับนานาอารยประเทศได้

ดูเหมือนว่า “จุดเปลี่ยน” ในครั้งนี้ไม่มีความเสี่ยง หรือมีความเสี่ยงน้อย แต่ก็นั่นแหละ “ใด ๆ ในโลกล้วนอนิจจัง” ไม่มีใครสามารถคาดเดาอนาคตได้ แต่โดยส่วนตัวแล้ว ผมเชื่อในความตั้งใจจริง ความสำเร็จต่าง ๆ ที่ผ่านไปในชีวิตล้วนแล้วมาจากการกระทำที่เรียกว่า “ยืนหยัด ยืนยัน และยืนกราน เพื่อสร้างความสำเร็จ” – “บิซ แบ๊กอัพ” ก็จะเป็น “จุดเปลี่ยน” อีกจุดหนึ่ง ที่ไม่แตกต่างจากความเชื่อนี้

สรรพัชญ์ เลี้ยววาริณ
20 กันยายน 2552

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น